Sunday, July 03, 2016

ประมวลความรู้เกี่ยวกับซะกาตฟิตเราะห์


                มุสลิมทุกคนควรตระหนักในการจ่ายเงินหรือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับผู้อื่น  สิ่งนี้มุสลิมส่วนใหญ่รู้   แต่ในการปฏิบัติทุกวันนี้เป็นอย่างไร  สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักการหรือไม่  คือสิ่งที่ต้องมาใคร่ครวญกัน อย่างน้อยก็ดังโจทย์ต่อไปนี้

โจทย์ที่  1  ซะกาตฟิฎเราะห์คืออะไร  และใครบ้างที่ต้องจ่าย
            ซะกาตด้านภาษาบ่งชี้ถึง การเจริญเติบโต งอกเงย เพิ่มพูน ขัดเกลาให้สะอาด และความประเสริฐ
                                                                                                                                                                            
            ส่วนคำว่า ฟิฏรฺ หรือฟิฏเราะฮฺ ด้านภาษาหมายถึง การเปิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทำให้แตกและแยกออก                                                                     

ซะกาตฟิฏเราะฮฺ หมายถึง การบริจาคทานที่ถูกกำหนดให้มุสลิมทุกคนต้องจ่าย เนื่องจากการสิ้นสุดของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการขัดเกลาผู้ถือศีลอดให้สะอาดบริสุทธิ์จากความหลงลืมและการพูดที่โสมม


              ในอีกความหมายหนึ่ง ซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือซะกาตแห่งตัวตนหรือซะกาตแห่งชีวิต  เพราะมุสลิมทุกคนต้องจ่าย  ทั้งชาย-หญิง  ทั้งเด็กแรกเกิดจนถึงคนแก่เฒ่า  หรือแม้แต่คนสติไม่สมประกอบ

             อาบีฮูรัยเราะห์ ได้กล่าว  ความว่า  ท่านศาสดาได้วายิบ  (บังคับ) ให้จ่ายซะกาตฟิฎเราะห์  ในเดือนรอมฎอนทั้งในหมู่ผู้เป็นไท เป็นทาส ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง  เด็กแรกเกิด คนแก่ คนรวยและคนจน ในบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย( อะห์มัด, บุคอรี และมุสลิม )

            ผู้ปกครอง/ คนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา เป็นคนจ่าย  

           ท่านศาสดากล่าวว่า  จงจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ จากทุกคนที่เป็นผู้รับผิดชอบของท่านทั้งหลาย (บัยฮากี)

โจทย์ที่  2  ลูกบุญธรรม เด็กกำพร้า  ลูกเลี้ยง  ใครจ่ายให้  ?

              เป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้ปกครอง / ผู้ดูแล ในที่นี้ก็หมายถึงญาติทางสายเลือด  หรือผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเด็ก ๆ  เหล่านั้น  ซึ่งก็คือ พ่อ ปู ลุง .

             กรณีลูกบุญธรรมที่ไม่พบญาติทางสายเลือด  ผู้รับผิดชอบในการเลี้ยงดู ซึ่งก็คือพ่อบุญธรรมที่จะต้องจ่ายให้

            กรณีเด็กกำพร้า  ถ้าไม่มีหรือไม่พบญาติทางสายเลือด  ผู้ดูแลก็ต้องรับภาระในการจ่ายให้  เช่น เดียวกับกรณีลูกเลี้ยง ถ้าไม่ปรากฏญาติทางสายเลือด พ่อเลี้ยงก็ต้องรับภาระในการจ่ายให้

               กรณีเด็กสามารถหารายได้ ได้ด้วยตัวเอง ก็ควรส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกในการจ่าย  แต่ภาระที่แท้จริงก็ยังเป็นของผู้ปกครอง  หรือผู้เป็นญาติเหนือขึ้นไปทางสายเลือด

โจทย์ที่ 3  ลูกสาวที่ทำงานมีรายได้ของตนเองยังคงเป็นภาระของผู้ปกครองหรือไม่  ?

               คนที่สามารถทำงานหาเงินได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  เขาก็ควรจ่ายซะกาตเอง  และสามารถจ่ายซะกาตเพื่อพ่อแม่ได้ด้วย  ทั้งนี้ก็ต้องบอกให้พ่อแม่ได้รู้ด้วย

โจทย์ที่  4  ต้องจ่ายซะกาตเวลาไหน
              เริ่มต้นรอมฎอนก็สามารถจ่ายซะกาตได้  ดังที่ฮาดิษจากอูมัรที่ได้กล่าวว่า  ท่านศาสดาได้บังคับให้จ่ายซะกาตในเดือนรอมฎอน

               อย่างไรก็ตามก็มีข้อขัดแย้งทางความคิดของเหล่าผู้รู้ที่เกี่ยวกับเวลาที่วาญิบ อีหม่ามซาฟิอี  และ อีหม่ามมาลิก  เห็นว่า  เวลาที่ต้องจ่ายก็คือ  เวลาแสงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนได้สิ้นสุดลง  ในขณะที่อีหม่ามฮานีฟะห์ เห็นว่า  บังคับให้ต้องจ่ายหลังจากที่แสงแรกของเดือนเซาวาลได้ออกมา
   
               แต่เพื่อง่ายในการปฏิบัติ  นักการศาสนาส่วนหนึ่งได้แบ่งเวลาดังนี้
1.         สามารถจ่ายได้ทันทีหลังเข้าสู่รอมฎอน
2.         เวลาที่ดีที่สุดก็คือก่อนละหมาดอีดิลฟิฎรี
            3.  ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฎเราะห์หลังจากเลยเวลาที่ถูกกำหนดไว้ หรือหลังจากละหมาดอีดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ หลังละหมาดอีด จะถือว่าซะกาตที่ได้จ่ายไปนั้นเป็นซะกาตทั่วๆไป ไม่ใช่ซะกาตฟิฏเราะฮฺ                                                             
                             
โจทย์ที่  5  ถ้าลืมจ่ายล่ะจะต้องทำไง  ?
             การจ่ายซะกาตเป็นภาระสำคัญของมุสลิม  ในการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่ควรที่จะลืม  ผู้ที่ลืมมักจะเกิดจากการถ่วงเวลารอจ่ายในช่วงท้าย ๆ  ซึ่งก็มีผู้บอกว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด  ได้บุญมากที่สุด  ผมเห็นว่าการได้บุญ จะมากหรือน้อยเป็นเรื่องของอัลเลาะห์  ส่วนที่เป็นเรื่องของเราก็คือต้องจ่ายตามช่วง เวลาที่กำหนด

               คนที่ลืมเมื่อนึกขึ้นได้ก็ต้องรีบหาคนที่มีสิทธิรับและจ่ายให้ทันที  พร้อมทั้งขอเตาบัต  (ขอลุแก่โทษ ) พร้อมตั้งจิตให้มั่นว่าจะไม่ลงลืมกับภาระเช่นนี้อีก

โจทย์ที่  6  ถือศีลอดไม่ขาดแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาต

               การถือศีลอดเป็นสิ่งที่ต้องทำ  (วาญิบ)  การจ่ายซะกาตเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายเช่นกัน การละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือเป็นบาป

               อิบนูอูมัรได้กล่าวว่า  ท่านศาสดาได้สั่งให้เราจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ก่อนที่ผู้คนจะออกมาละหมาด อีดิลฟิฎรี  (บูคอรีและมุสลิม)

               เหล่าผู้รู้ได้ให้ความเห็นว่าคนที่ตั้งใจไม่จ่าย   และไม่ถือเป็นวาญิบสำหรับตนเองเขาอาจจะตกอยู่ในฐานะกูฟูร / สิ้นสภาพ

โจทย์ที่    7     คนยากจนต้องจ่ายซะกาตด้วยหรือ  ?

              ซะกาตฟิฏเราะฮฺ ถูกบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะใด  ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเขาต้องมีอาหารเพียงพอในการรับประทานนับจากคืนอีด  (1 เชาวัล)  จนถึงสิ้นวันอีด   คนที่อยู่นอกเงื่อนไขนี้จะต้องจ่ายทุกคน

               แต่ก็มีบางทัศนะเห็นว่าคนยากจนที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยเงินซะกาต  เขาไม่ต้องรับภาระในการจ่ายอีก  เพราะเงินที่เขามีก็เงินซะกาตนั้นเอง

โจทย์ที่  8  จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงินหรือด้วยข้าวสาร ?
               แต่เดิมซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือการจ่ายด้วยอาหารหลัก  แต่ก็มีทัศนะบอกว่าจ่ายแทนด้วยเงินก็ได้  การจ่ายด้วยเงินก็เป็นการตัดสินใจของอูมัร อับดุลอาซิซ  ท่านได้บอกว่าการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ สามารถทดแทนได้ด้วยสิ่งมีค่า  (เงิน)  ทุกวันนี้เงินถูกใช้เพื่อชำระหนี้ /เพื่อการแลกเปลี่ยน  อาหาร/ สิ่งของ  เงินจึงถือว่าสมควร

อย่างไรก็ตาม อุละมาอ์ส่วนใหญ่ (มัซฮับมาลิกีย์ ชาฟิอีย์ และฮัมบาลีย์)    ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงินแทนอาหาร และผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงิน ซะกาตฟิฏเราะฮฺ ของเขาจะไม่ถูกรับ เพราะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการอนุญาต  
            ส่วนมัซฮับหะนะฟีย์ มีทัศนะว่าอนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงิน

โจมย์ที่   9  ถ้าไม่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ผลบุญจากการถือศีลอดถูกแขวน ?

               ท่านศาสดาได้กล่าวว่า  ศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ถูกผูกไว้ระหว่างชั้นดินกับแผ่นฟ้า  และจะไม่ถูกนำไปสู่อัลเลาะห์  เว้นเสียแต่ด้วยซะกาตฟิฏเราะฮฺ ( อิบนูอาซากีร)

               แต่เหล่านักฮาดิษได้แสดงความกังขาต่อความถูกต้องของฮาดิษนี้  และแย้งกับฮาดิษอื่นที่ได้กำหนดอีบาดะห์เฉพาะต่าง    สำหรับเดือนรอมฎอน ผมเห็นว่าอีบาดะห์อะไรก็แล้วแต่เมื่อได้ถูกกระทำอย่างสมบูรณ์และครบถ้วน   ก็เป็นสิทธิของอัลเลาะห์ที่จะตอบรับหรือไม่  ?

โจทย์ที่   10  ซะกาตฟิฏเราะฮฺ ต้องจ่ายให้คนยากจนเท่านั้นหรือ
               เป็นความแตกต่างทางความคิด    (คิลาฟ)  บ้างก็เห็นว่าเฉพาะสำหรับคนยากจนคนอนาถา  (ฟากิร /มิสกิน ) แต่อีกส่วนก็เห็นว่าผู้มีสิทธิรับซะกาตทั้งแปดประเภทก็มีสิทธิรับซะกาตฟิฏเราะฮฺ เช่นกัน

               นอกจากนี้ก็ยังมีความเห็นว่า  สามารถจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ให้กับคนต่างศาสนิกก็ได้  (ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลาม)  ในกรณีที่คนต่างศาสนิกนั้นมีฐานะยากจน

โจทย์ที่  11   จ่ายซะกาตฟิตเราะห์แทนที่ลูกจ้างที่ทำงานในบ้านเราได้หรือไม่

               ลูกจ้างไม่ใช่ภาระโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดู  ลูกจ้างคือคนทำงานที่ได้ค่าจ้าง  ลูกจ้างต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ของตนเอง

              แต่ถ้านายจ้างประสงค์ที่จะจ่ายให้ก็ไม่ผิดแต่เพียงต้องบอกให้ทราบ  และต้องได้รับอนุญาตด้วย  เพราะไม่ใช่สิทธิของนายจ้างโดยตรง

โจทย์ที่  12    ลูกที่เกิดในคืนอีดิลฟิฎรีต้องจ่ายไหม่
              ไม่ต้องเพราะวันอีดหรือกลางคืนถือว่าสิ้นสุดรอมฎอนแล้ว

โจทย์ที่  13  หญิงตั้งท้องที่ครบกำหนดคลอดแล้ว แต่ยังไม่คลอดจนล่วงเลยวันที่  1  เชาวัล
               ในหนังสือ  ฮูกุมซะกาตของ    ดร. ยุชุฟ  ฎอร์ฎอวีย์  สรุปว่าไม่ต้องจ่ายเพระอิสลามไม่ได้สร้างภาระใดต่อลูกที่ยังอยู่ในท้องของมารดา

โจทย์ที่  14  ซะกาตฟิตเราะห์กับซะกาตทรัพย์สินจ่ายในช่วงเวลาเดียวกัน
                   ไม่ผิดใดๆ  หากแต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมควรกระทำอย่างยิ่ง  มีอาดิษรายงานจาก  อิบนู คูชัยมะห์  จากชัลมาล อัลฟารีชี ระบุว่า  ทุกอามัลทุกชนิดในเดือนรอมฎอน  จะได้รับผลตอบแทนถึง  70  เท่า


โจทย์ที่  15  ทำไหมบางคนต้องจ่ายซะกาตไม่เหมือนหรือไม่เท่ากับคนอื่น ๆ
               คนที่ใส่ใจและระมัดระวังในการประกอบภารกิจทางศาสนา  เขาจะคำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก   ราคาข้าวสารแต่ละที่  หรือที่แต่ละคนได้บริโภคอาจต่างกัน  คนที่คำนึงถึงความถูกต้องที่สุด ย่อมคิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะจ่ายไปจ่ายเท่าใด หรือจ่ายให้ใคร


No comments: