Friday, November 23, 2012

15 ข้อ เตือนใจ ถ้าต้องอกหัก





อกหัก


ต้องคิดว่า  เป็นเรื่องปกติ  เพระไม่มีใครสมหวังตลอดกาล  ไม่มีใครผิดหวังตลอดไป  ปัญหาที่กระทบต่อเราในวันนี้  เป็นวัคซีนในการสู้กับปัญหาใด    ในวันข้างหน้า   ซึ่งแน่นอนว่าจะมีความเข้มข้นมากกว่า  และให้ถือในข้อปฏิบัติ  ดั่งนี้

1.       เขาไม่ไช่คนที่ดีที่สุดสำหรับเรา  และเราอย่าจินตนาการว่ารักเราคือความ  Happy  Ending  ยังมีความ  Happy  อื่นๆ อีกมาก ที่ชีวิตเรา สามารถหามาได้

2.       ถ้าต้องร้องให้ก็ร้องเถิด  ร้องให้เต็มที่  การระบายทั้งน้ำตาเป็นการระบายที่ดีที่สุด  แรกเกิดเรามีน้ำตา  ทั้งน้ำตาเราและน้ำตาแม่เรา  แล้วเหตุไฉน เราจะร้องอีกไม่ได้

3.       หาทางออกกำลังกาย  ที่ใช้พลังงานเยาะ    เช่นว่ายน้ำหรือฝึกความแม่นยำในฝีมือ โดยการขว้างปาสิ่งของ  ปาต้นไม้  เป็นต้น (แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อน หรือความเสียหายใดๆ กับใคร)

4.       ขอบคุณเขาที่ทำให้เรารู้จักโลกใบนี้มากขึ้น  ความเจ็บปวดที่เขามีให้กับเรา จะเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับเรา   ในความมั่นคง  ความเข้มแข็ง  กับรักแท้  ที่อัลเลาะห์จะให้กับเราในอนาคต

5.       เปลี่ยนทรงใหม่ของตนเองทั้งทรงผม การวางตัว ท่าทีการแสดงออก  ที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นว่าเราคือเรา   เขาไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อเราอีกเลย

6.       กินอาหารที่เราชอบโดยเฉพาะที่มีคาโบไฮเดรตสูง   เช่น  ข้าว  ขนมปัง  หรืออาหารอื่นที่ทำจากแป้ง  เพราะเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง  สร้างความกระชับกระเชงให้กับร่างกาย

7.       ตื่นเช้าให้มองที่ตัวเอง  และบอกกับตนเองว่า  ฉันไม่ได้อกอัก  ฉันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องคิดถึงคนแบบเขา

8.       ให้คิดตรงกันข้ามกับความรู้สึก  รักเขา  ซึ่งคนรักมักมองแต่สิ่งดี ๆ ของเขา โดยละเลยสิ่งไม่ดี  วันนี้เรามองภาพตรงกันข้ามบ้าง   เพราะในความเป็นมนุษย์ที่  Perfect  ทุกอย่างนั้นไม่มี  จึงไม่มีเหตุผลที่เรามองแต่ความดีของเขา

9.       อย่าให้มีเวลาว่างมากนัก พยายามทำอะไรก็ได้ ที่เราอยากทำ เช่น  รดน้ำต้นไม้    ไปเดินตลาด เล่นกีฬา  เลี้ยงสัตว์ที่ชอบ เป็นต้น

10.    ใส่เสื้อสีเขียว  หรือมองหาสิ่งที่เป็นสีเขียวให้มากที่สุด  นักจิตวิทยาบอกว่า สีเขียวถือเป็นสีที่สามารถกล่อมเกลาจิตใจได้

11.    ทิ้งหรือเก็บไว้ไกลตาบรรดาสิ่งของต่าง ๆ  ที่เขาเคยให้มา  หรือของที่เป็นสัญลักษณ์แทนเขา ทั้งรูปภาพ ของที่ระลึกต่างๆ เป็นต้น
12.    เขียนข้อมูลอันพึงประสงค์สำหรับชายหรือหญิงในฝันคนต่อไป  โดยใช้ประสบการณ์จากความผิดหวังที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นบทเรียน  หลังจากนั้นก็ลองใคร่ครวญและพัฒนาตนเอง เพื่อการทำให้ตนเองเป็นดังคนที่ฝันนั้นควรเป็นอย่างไร ?

13.    อย่าประชดชีวิต อย่ามองว่าเราคือผู้แพ้  เพราะแพ้ ชนะ อยู่ที่ใจ และการรู้จักรักษาเกียรติยศของตนเอง การรู้จักดูแลตนเอง ไม่ถูกชักนำจากอารมณ์ ใฝ่ต่ำต่างๆ  นี่แหละคือผู้ชนะที่แท้จริง

14.    เราต้องให้ความยุติธรรมให้กับตนเอง  และสร้างความคิดเชิงบวกให้มากขึ้น  เขาจากเราไป หาไช่เพราะเราไม่ดีพอ แต่เขาไม่รู้จักรักษาความดีจากที่เรามีต่างหาก   

15.    จงเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกกำหนด  ถ้าการลากัน ทำให้เรา เจ็บปวด  หรือรวดร้าว ระทม ขมขื่น จงบอกกับตนเองว่า  อัลเลาะห์ได้กำหนดไว้แล้ว  เฉกเช่นเดียวกับช่วงเวลาที่เรามีความสุข นั้นเพราะเนิ๊ยะมัตที่ถูกกำหนดไว้  เรามีสุขได้   เราก็ทุกข์ได้  เราขอยอมรับกับทุกอย่างด้วยใจที่เปิดกว้าง

Friday, November 16, 2012

มูฮัรรัม



มูฮัรรัม  :  ย่างก้าวแห่งความรักต่อมวลมนุษย์


              ปรากฏการณ์สำคัญใด ๆ  ย่อมไร้คุณค่า  หากเราไม่ให้ความหมายหรือสร้างคุณค่าต่อปรากฏการณ์นั้น ๆ


วันที่ 1  มูฮัรรัม   ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของปฎิทินอิสลาม  หรือปีใหม่อิสลามนั้นเอง  1 มูฮัรรัม    เป็นจุดกำเนิดของอริยธรรมที่มนุษย์ชาติทุกคนจะต้องทำการศึกษา     กับบ่อเกิดแห่งการเปลี่ยนแปลง อริยธรรมมนุษย์ครั้งสำคัญ   มูฮัรรัมเป็นช่วงตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สามารถสร้างบทเรียนคณานับ    โดยเฉพาะต่อการสร้างความเข้าใจในความหมายของอิสลาม อันเป็นศาสนาที่รัดรึงวีถีชีวิตของผู้ศรัทธาต่อคำสอนที่ถูกต้องและครบถ้วน

                มูฮัรรัม  เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการก่อเกิดอริยธรรมมนุษย์ที่มุ่งเน้นเรื่องความรัก ความยุติธรรม  ความเท่าเทียม  ความสมานฉันท์ ในการมีปฎิสัมพันธ์ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกหมู่เหล่า   ไม่ผิดนัก  ถ้าจะบอกว่าอิสลามเป็นศาสนาแรกที่มุ่งเน้นด้านสิทธิของผู้คนในการเข้าถึงการศรัทธาทางศาสนาโดยที่มีระบุถึงหลักการนี้ในคัมภีร์สูงสุดคือ  อัลกุรอาน

                ปฏิญญาสำคัญของมนุษย์ชาติ ซึ่งน่าจะเป็นปฏิญญาแรกของโลก ที่รู้จักกันในนามปฏิญญามาดีนะท์   เป็นข้อบ่งชี้สำคัญทางประวัติศาสตร์  ที่แสดงให้เห็นถึงความรักต่อเพื่อนมนุษย์  การเคารพในสิทธิ    และการให้คุณค่าต่อความเห็นที่ต่างของทุกผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองมาดีนะห์  การให้อิสระทางศาสนา  และการปกป้องต่อชนต่างศาสนิก  เป็นหนึ่งใน  47  ข้อที่ท่านศาสดาได้กำหนดไว้ในปฏิญญานี้

        เวลาผ่านไปถึง  1400  ปี  จากปฏิญญามาดีนะห์  โลกยุคใหม่เพิ่งจะได้เห็นองค์การสหประชาชาติ  (UN)  ประสบความสำเร็จในการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่อง สิทธิมนุษยชน

                 ความเชื่อที่แตกต่างย่อมไม่ไช่ประเด็นที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม  ย่อมไม่ใช่ข้อจำกัดที่แต่ละฝ่ายจะได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม   และให้เกียรติต่อความต่างทางความคิดที่แต่ละฝ่ายมี

                ท่านญาฟิร  บินอับดุลเลาะห์  ซึ่งเป็นสหายของท่านศาสดา  ได้กล่าวว่า  วันหนึ่งมีผู้คนกลุ่มหนึ่งแบกโลงศพของคนหนึ่งผ่านไม่ไกลจากที่ท่านศาสดาได้นั่งอยู่   ได้เห็นดั่งนั้นท่านศาสดาได้ยืนขึ้นตรง  พวกเราที่อยู่กับท่านศาสดาก็ได้ปฎิบัติตามที่ศาสดาได้ปฏิบัตินั้น  ท่านญาฟิรก็ได้ถามท่านศาสดา โอ้รอซูลุลเลาะห์  ศพที่หามมานั้นเป็นชาวยิว   ศาสดาได้ตอบว่า เขาไม่ไช่มนุษย์หรือ ?    เมื่อใดก็ตามแต่ที่พวกท่านได้เห็นขบวนศพผ่านมายังท่าน ท่านต้องยืนเพื่อให้ความเคารพ
                การให้เกียรติ  ต่อคนที่มีความเห็นต่าง  เป็นสิ่งที่ถูกปฏิบัตินับแต่สมัยศาสดา จนถึงเหล่าผู้สืบทอดนับเนื่องตามมา  ในยุคอูมัร  มีชาวยิวที่ยากจนเข้ามาหา   เมื่อได้พบกับอูมัร  ท่านก็ได้พาชาวยิวคนนั้นไปยังบ้านของท่าน  และได้บริจาคสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต  พร้อมกับได้สั่งให้ไปยังบัยตุลมาล เพื่อรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวว่า  แท้จริงซะกาตนั้นเพื่อคนยากจนและคนนี้ก็เป็นคนจนจากชาวคัมภีร์

                การแสดงออกถึงความอ่อนโยน ความรักและความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์  เป็นสิ่งที่มุสลิมผู้ศรัทธาต้องกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในแต่ละวัน  และในทุกช่วงก้าวของชีวิต  ไม่ว่าจะเป็นในช่วงชีวิตที่ตกต่ำ  หรือในช่วงที่มีอำนาจ หรือตำแหน่งสูงเพียงใด  บุคลิกภาพเช่นนี้ย่อมอยู่คู่กับเราตลอดไป

ในปี  1099  เมื่อพวกคริสเตียน  ได้ยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์  ถือเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่แผ่นดินแห่งนั้น  เกิดการรบราฆ่าฟันไม่หยุดหย่อน  แต่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1187 ซอลาฮุดดีน อัยยูบี ได้ยกทัพยึดคืนแผ่นดินบาเลสไตน์  หลังจากที่ตกอยู่ในมือของพวกครูเสดมาเป็นเวลา 88 ปี ชาวเมืองเยรูซาเลมได้รับการปฏิบัติจากกองทัพของศอลาฮุดดีนอย่างดี และด้วยศีลธรรมอันสูง   ทุกคนในแผ่นดินแห่งนั้น ได้รับการปกป้องในเกียรติภูมิของตนเอง ทั้งชาวยิวและคริสเตียน สามารถปฏิบัติตามหลักความเชื่อ  และแนวปฏิบัติทางศาสนาของแต่ละคนได้อย่างเต็มที่และไม่มีการกีดกันใด ๆ ทั้งสิ้น

                ตัวอย่างข้างต้นถือเป็นข้อบ่งชี้ถึงความใจกว้าง  และการให้ความรักอย่างเต็มเปี่ยมต่อเพื่อนมนุษย์  โดยไม่คำนึงต่อภูมิหลัง  และความเชื่อใดๆ  โดยมีความยุติธรรมเป็นแกนหลักต่อการมีปฎิสัมพันธ์ต่อกัน

                อัลเลาะห์ทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม  และปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของผู้คน  อัลเลาะห์ได้กล่าวไว้ในอัลกรุอาน


ความว่า  "อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าใน เรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่ พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (มุมตาฮานะห์ : 8 )

                มูฮัรรัม  จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  เป็นช่วงเวลาที่เราต้องมาทำการศึกษา  และได้ตระหนัก ต่อคุณค่าทางศีลธรรม  ความหมายทางสังคมและการเมือง  ในการสร้างความรัก  และความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะต่อผู้เดือดร้อน หรือคนอ่อนแอโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

Thursday, November 01, 2012

การเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชาย

การเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชาย

ในการเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชายต้องให้เหมือนกันในแง่ของการให้ความรักและความใส่ใจ  โดยมีข้อควรให้ความสำคัญระหว่างลูกทั้งสองเพศดังนี้

ลูกสาว
1.   ฝึกในการดูแลร่างกาย การปกปิดในอวัยวะพึงสงวนตั้งแต่เล็ก ๆ
2.   ฝึกให้ช่วยงานบ้านโดยเฉพาะในครัว  การเย็บปักถักร้อยต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
3.   หลีกเหลี่ยงจากของเล่นที่ควรให้กับลูกชาย เช่น หุ่นยนต์ มีด ปืน เป็นต้น
4.    ฝึกเพื่อให้เป็นคนมีน้ำใจอ่อนน้อม  ความอ่อนโยน ชอบเป็นผู้ให้
5.    เมื่อถึงเวลาเหมาะสมต้องสื่อสาร เรื่องทางเพศที่เกี่ยวข้องเช่น  การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์  การดูแลความสะอาด  เป็นต้น
6.    ฝึกความเป็นระเบียบ  ความเรียบร้อยในการจัดการตัวเอง และสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน
7.    ฝึกให้มีความรักในการศึกษาหาความรู้  การพัฒนาตนเองในรูปแบบต่าง ๆ การรู้เท่าทันคน  การมีทักษะในชีวิต เป็นต้น

ลูกชาย
1.   ฝึกความเป็นผู้นำ  ความเสียสละ ความอดทน และการให้ความช่วยเหลือต่อผู้อื่น
2.   หมั่นพาไปยังศาสนสถาน  ให้เป็นผู้นำละหมาดบ้าง  ( เมื่อบรรลุถึงศาสนภาวะ )
3.   ส่งเสริมให้มีความรักต่อการบริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น เก็บขยะตามที่สาธารณะ การดูแลคนอ่อนแอ  ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เป็นต้น 
4.    ฝึกซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านด้วยตัวเอง เช่น ซ่อมท่อประปา ท่อน้ำ  การตัดผม และงานด้านช่างต่าง ๆ
5.    หลีกเหลี่ยงจากการให้ของเล่นที่เหมาะสำหรับลูกสาวเช่น ตุ๊กตา ฯลฯ
6.    กระตุ้นเตือนตั้งแต่เล็กในการแสวงหาความรู้  แสวงหาประสบการณ์ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ   และถ้ามีโอกาสไปต่างประเทศก็ควรสนับสนุน
7.      ฝึกการให้เกียรติต่อเพศตรงข้าม รู้จักความรักแบบมีสติและเคารพต่อความเห็นต่าง

Saturday, October 20, 2012

10 ข้อเท็จจริงว่าด้วยการเป็น “แฟน”



ภาพประกอบเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาใดๆ ทั้งสิ้น
 

1. เขาบอกว่าการเป็นแฟนนั้นคือ  ความสัมพันธ์  ชาย หญิง  รอเวลา และความพร้อมก่อนการ แต่งงาน  ไช่หรือไม่ ?     ไม่ไช่ เพราะที่ถูกแล้วน่าจะเรียกว่า เป็นความสัมพันธ์ก่อนที่ทั้งคู่จะเลิกกันไป มากกว่า   เพราะส่วนใหญ่ของคนที่เป็นแฟนกัน  มักจบลงด้วยการเลิก

2. ฉันตกลงเป็นแฟนกับเขาเพราะเห็นว่า เขาเป็นคนดี  และจริงใจมากนะ  จริงหรือ ?   ถ้าดีจริงเขาต้องรู้จักรักษาเกียรติยศ  ศักดิ์ศรี ลูกผู้หญิงเช่นเรา  และ ถ้าจริงใจก็ต้องกล้าไปคุยกับพ่อแม่เราซิ

3.  เขาเก่งมากนะ  ทำให้เรามีความสุขได้ ?  ความสุขและความทุกข์อยู่ที่ใจ  เราสามารถสร้างด้วยตัวของเราเองได้  ด้วยการพึงพอใจในสิ่งที่เรามี และสิ่งที่เราเป็น ไม่ใช่เพราะเขาเลย  แต่ถ้า  สุขของเรา ถูกผูกไว้กับตัวเขา  ยามใดที่เขาจากไป หรือเขามีใจเป็นอื่น  เราก็จะทุกข์ระทม

4.  เขาบอกว่า  เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ  และเป็นเรื่องธรรมชาติ  ของมนุษย์ทุกคนจริงหรือ ?  ไช่แล้ว ถูกต้อง เป็นเรื่องจริง  แต่ถ้าเขาไม่ได้มีแค่เราคนเดียว ทั้งก่อนหน้านี้  (ก่อนที่จะมาเป็นแฟนเรา)  และตอนนี้ (ที่กำลังคบกับเราอยู่)  เราก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ  และชีวิตเราต้องเจอกับบาปใหญ่อย่างแน่นอน

5. ที่ฉันยอมให้เขา ก็เพราะต้องการพิสูจน์ถึงรักจริง ..? ความรู้สึกรัก ชอบ  โกรธ หลง  เป็นความรู้สึกทางใจ  เรื่องทางกายถ้าเป็นได้ก็แค่องค์ประกอบเล็กๆ เท่านั้น แต่ถ้ากายถูกใช้เป็นเครื่องมือผูกรัก  วันไหนที่เขาเบื่อ เขาก็ไปหาอื่นแน่นอน   

6.  เพื่อนๆ ก็มีกัน ไม่เห็นเป็นไรเลย มีความสุขดีออก ... ? ตัวเราก็คือเรา เขาก็คือเขา การตามเพื่อน หรือตามแฟชั่น มีแต่เสีย ทั้งเงิน  ทั้งเวลา เสียทั้ง....  สู้เอาเวลาเพื่อการเรียน เพื่ออนาคตที่ดี เพื่อเป็นหลักประกันในความสุข และความสำเร็จอันยั่งยืนในวันข้างหน้าดีกว่านะ

7.  เขาบอก ขอครั้งเดียวเท่านั้นเอง แค่ครั้งเดียว ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ? ไม่จริง หลายคนเมื่อมีครั้งหนึ่ง ก็จะมีอีกหลายๆ ครั้งตามมา  ที่สำคัญคือ ถ้าถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์ ครั้งเดียวก็ท้องได้  และครั้งเดียวก็ติดเชื้อได้   

8.  ฉันชอบละครเกาหลี ดูแล้วติดใจมาก ชีวิตรักของฉันและเขาจะเป็นแบบนั้น.......ละครก็คือสิ่งที่คนสร้างขึ้น จะหวานแววหรือทุกข์ระทมเพียงใด ก็อยู่ที่บทที่คนสร้าง  แต่ชีวิตเรา  คือตัวเรา  ยากที่จะเป็นดังละครที่เราชอบนั้นได้ เพราะฉะนั้นอย่าจินตนาการตัวเราจะเป็นดั่งตัวละครเลย

9.  เชื่อมั่นในคำพูดและคำสัญญาของเขา...?    ปากคนเราพูดได้ทั้งนั้นแหละ  เหมือนพ่อค้าที่ขายของ    ย่อมบอกว่าของตนเองดีมาก และยอดเยี่ยมทุกประการ บางคนก็อวดอ้างสรรพคุณสารพัด แต่เมื่อซื้อมาใช้ จะได้   สักครึ่งของคำที่อวดอ้าง  ไหม ?   เช่นเดียวกับคำรัก และคำสัญญาต่าง ๆ ที่มีมาให้เรา

10.  หาเงินใช้จ่ายดูแลตนเองก็ยังไม่ได้เลย แล้วจะไปดูแลใครได้  หรือเราจะยอมสละทุกอย่างเพื่อสนองตอบต่อคนรัก  แล้วพ่อเรา แม่เรา พี่น้องของเรา ที่อยู่กับเราตั้งแต่เกิด เราจะยอมสละเพียงเพื่อ เขาหรือ

Wednesday, October 10, 2012

ถ้อยวลียามเช้า 1


การอดทน (ซอบัร) ต้องพาตัวเรา ไปให้ได้ใน 3 จุดต่อไปนี้
1. อดทนด้านกายภาพ ไม่นำพาตนเองสู่การกระทำที่ไม่ถูกต้อง
2. อดทนด้วยลิ้น ด้วยการอดกลั้นไม่ใช้ถ้อยวาจาที่ไม่เหมาะสม
3. สำคัญที่สุด ทนที่ใจ ด้วยการไม่ให้ความรู้สึกเชิงลบใดๆ ต่อใคร ย่างกรายเข้าหา

Sunday, September 30, 2012

ข้อคิดคำนึง 4



ปัญหาสำคัญของพ่อแม่คือรักลูกผิดวิธี รักโดยการให้  รักโดยการตาม  เมื่อถึงวันที่ให้หรือตามไม่ได้   อาการเขม็งเกลียว ในครอบครัวก็เกิดขึ้น   ทั้งสองฝ่ายมองปัญหาเดียวกัน แต่มองกันคนละประเด็น
พ่อแม่ มองลูกว่า เป็นเด็กดื้อ พูดไม่รู้เรื่อง 

ในขณะที่ลูก มองว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ หรือไม่รักแล้ว  ปัญหาจะหนักยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีน้อง  และพ่อแม่ก็รักน้องด้วยวิธีเดียวกับพี่ นั้นคือให้และตาม  ทั้งๆ ที่ ศักยภาพในการให้และการตามมีขีดจำกัด  ในขณะที่ความต้องการมีมากขึ้น ตามอายุที่เพิ่มขึ้น…..

แต่ถ้าเรามองว่าลูกคืออามานะห์  คือความรับผิดชอบที่ถูกประทานมา เพื่อสร้าง เพื่อพัฒนา เพื่อบ่มเพาะสู่การเป็นประชาชาติที่ดี ประชาชาติแห่งแบบอย่าง ...  เหมือนที่เรามีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน เรามีเพื่อนร่วมงาน  เรามีลูกน้อง  เรามีหน้าที่ในการขับเคลื่อนภารกิจ สู่เป้าหมายร่วมกัน  ทุกคนจะต้องทำตามหน้าที่ โดยที่ความรักที่มีระหว่างกันจะเป็นเรื่องรอง  แต่เรื่องหลักคือ หน้าที่

วันนี้ เราได้ทำอะไรแค่เพราะ รัก   หรือ ได้ทำไปเพราะ หน้าที่

Friday, September 07, 2012

มุ่งสู่ใจที่บริสุทธิ์

การชำระล้างจิตใจ

ทุกจังหวะก้าวของชีวิตมนุษย์ จะมีจุดเริ่มต้นมาจากใจ   ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำ   16 ข้อ สำหรับการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ (แม้จะไม่ผุดผ่องนัก)

1.ละหมาดและหมั่นขอดุอาอ และในทุกการดุอาอ จะต้องตั้งเจตนาอันแน่วแน่ให้อัลเลาะห์ได้ชำระจิตใจเราให้ 
    สะอาด

2.หมั่นซอลาวาตต่อท่านศาสดา อย่างน้อย 100  ครั้ง ก่อนนอน

3. ละหมาดเตาบัตให้บ่อยครั้ง

4. อ่านกุรอาน

5. สร้างความเคยชินในการขอมาอัฟ (ขออภัย) จากใจจริง ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน

6. สร้างความสำนึกในทางที่ดีงาม และความคิดเชิงบวกต่อตนเอง หลีกเลี่ยงความคิดในเชิงน้อยเนื้อต่ำใจ หรือการประชดตนเอง

7.จัดโปรแกรมพัฒนาความคิดและจิตใจของตนเอง  เราสามารถกระทำได้เอง โดยในช่วงที่เข้านอนหลับตา ก่อนที่จะหลับสนิทให้เราคิดในใจว่า "โอ้อัลเลาะห์ จงให้ความบริสุทธิ์แก่สติปัญญาของฉัน จิตใจของฉัน  พรุ่งนี้ฉันจะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ฉันจะทำให้สำเร็จ ชีวิตฉันจะผ่องใส จะมีบุคลิกภาพที่ดี จะมีคุณค่า และสร้างสรรค์

8. พึงระลึกอยู่เสมอว่า เราอยู่บนโลกนี้ ใช่จะนานนัก ความตายสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

9. ให้ตัวเราเองอยู่ในวูฎุอ อยู่ตลอดเวลา (เท่าที่สามารถทำได้)

10. ฝึกความเคยชินในการซอดาเกาะฮ  (บริจาค) ต่อผู้อ่อนแอ ผู้ยากไร้

11. เป็นเจ้ามือเลี้ยงคนรอบข้างบ้าง โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในสังคม

12. หลีกเลี่ยงจากการบริโภคในสิ่งซุบฮัต  (คลุมเครือ)  ทั้งปวง (ไม่ไช่แค่อาหารอย่างเดียว)

13. หมั่นเข้าหาผู้มีความรู้

14. รู้สึกดีใจอยู่เสมอหากได้คบหากับคนยากจน

15. จงพูดแต่สิ่งที่ดี และแนะนำในสิ่งที่ดีงามต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน

16. จะต้องรู้จักควบคุมประสาทสัมผัสทั้ง 5  ตลอดเวลา  อย่าให้ต้องสัมผัสกับสิ่งไม่ดี เช่นการฟังคำพูดที่หยาบคาย คำพูดที่เป็นฟิตนะห์

Saturday, August 25, 2012

บทเรียนรอมฎอน




รอมฎอนที่ได้จากลาเราไป หวังว่าคงจะได้มาซึ่งการเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชีวิตเราไม่น้อย  ชีวิตทั้งในทางส่วนตัว ทั้งในทางครอบครัว และทางสังคม

                สิ่งที่ได้จากรอมฎอนก็  คือ  การแสดงความภักดีมั่น   และความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  และผลแห่งความยำเกรงนั้น   หาใช่เพียงเพื่อการยกระดับมาตรฐานชีวิตแห่งตัวตนของแต่ละคนเท่านั้น  หากแต่ยังต้องมีผลสู่การจรรโลงสิ่งที่ดีงามต่อสังคมที่เราอยู่ด้วย  สมกับที่ว่า  เราะห์มาตันลิลอาลามีน   (เป็นความเมตตาทั่วทุกสากลโลก)

                ความสำเร็จที่แท้จริงของรอมฎอนจึงไม่ใช้แค่การได้อดทั้งเดือนจากช่วงเวลาที่ผ่านมา  หากแต่อยู่ที่การที่เราสามารถนำผลจากรอมฎอนไปใช้ต่อไป นับจากนี้ไปต่างหาก
                       
เหมือนคนที่ไปศึกษาร่ำเรียนวิชาการต่างๆ ผลสำเร็จสำคัญไม่ได้อยู่ที่การ ทำข้อสอบปีสุดท้ายเสร็จสิ้นและบรรลุลุล่วงไปด้วยดี  หากแต่อยู่ที่การนำผลได้จากเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาไปใช้ต่อทั้งเพื่อตัวเอง  เพื่อครอบครัว สังคมรอบข้าง  ประเทศชาติ  รวมทั้งมวลมนุษย์
       
                จากนี้ไปเป็นช่วงเวลาที่เราต้องหันมาใคร่ครวญตัวเอง  มองย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ผ่านมา  พยายามสรุปเป็นบทเรียน  พร้อมกับการสร้างความตระหนักในคุณค่าต่าง ๆ  จากรอมฎอน  จากนั้น เราก็ลองมองไปข้างหน้า กำหนดทิศทางชีวิต โดยใช้บทเรียนจากรอมฎอนที่ผ่านมา  เป็นแนวทางในการวางจังหวะก้าวต่อไป  ทั้งนี้เพื่อทำให้ชีวิตของเรา  ครอบครัวของเรา  และสังคมของเราดีขึ้นอย่างน้อยก็  4 ด้านต่อไปนี้คือ

1.       เราจะอดทน  และขยันขันแข็งในการดำเนินภารกิจใด ๆ  ที่เรารับผิดชอบ
2.       เราจะไม่ทำตามอารมณ์  และนัฟซู  (ความเห็นแก่ได้)  หากแต่จะควบคุมให้เป็นไปตามครรลองที่ชอบธรรม  ทั้งในทางศาสนา และกฎหมายบ้านเมือง
3.       เราจะมีความรักและความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน  ความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของใคร  เป็นสิ่งที่เราจะใส่ใจร่วมปกป้องและดูแล
4.       เราจะใช้จ่ายอย่างประหยัด  และจุลเจือทรัพยากรหรือเงินที่มีส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นทานต่อผู้ยากไร้

จากทั้ง 4 ข้อข้างต้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการที่เรามองย้อนอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงรอมฎอน  มองทั้งในแง่หลักคำสอนแล้ว ย้อนมองตัวเราเองว่ามีการปฏิบัติตัวที่ความสอดคล้องกับแก่นแท้ของหลักคำสอนไหม  ?   

แก่นแท้ของหลักคำสอน ซึ่งก็คืออัลกรุอ่านที่ถูกประทานมาในเดือนรอมฎอน เราสามารถกำหนดได้อย่างน้อยก็ 3 หลัก  ต่อไปนี้
1.       หลักแห่งความศรัทธาที่แน่วแน่และความยำเกรง
2.       หลักแห่งการศึกษาหาความรู้ 
3.       หลักแห่งความเมตตา  และความเป็นแบบอย่างต่อทุกมวลสรรพสิ่ง  (ลิลอาลามีน)

หลักที่   1 หลักแห่งความศรัทธาที่แน่วแน่และความยำเกรง
ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดที่ท่านศาสดาได้วางไว้  จากระยะเวลา  13  ปี  ที่เมกกะ  และหลังจากที่ได้ฮิจเราะห์สู่เมืองมาดีนะห์  ท่านศาสดามุ่งเป้าที่การสร้างให้เกิดเหล่าชนผู้ศรัทธาที่แน่วแน่ เริ่มจากแต่ละคน สู่สังคมโดยรวม  เมื่อตัวตนแต่ละคนเป็นแบบอย่างที่ดี สังคมโดยรวมก็ถูกพัฒนาไปในทางที่ดีด้วย  ซึ่งถูกเรียกต่อมาว่าประชาชาติที่ดีเลิศ  (คอยรออุมมะห์)

เริ่มแรกเมื่อศาสดาถึงมาดีนะห์  ก็มีการสร้างมัสยิด  เรียกชื่อว่ามัสยิดกูบา   ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของสังคมใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกวางไว้บนพื้นฐานของความศรัทธาอันแน่วแน่  และความยำเกรงที่ไม่คลอนแคลนใด ๆ บนหลักคิดที่ว่าอิสลามคือทางแห่งความเมตตา  ทางแห่งการจรรโลงสิ่งที่ดีงามต่อมวลมนุษย์  ความดีนี้เปล่งประกายจากมัสยิดฉายแสงไปทั่วทุกสรรพสิ่ง  อัลเลาะห์กล่าวว่า

 



แน่นอน มัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เจ้า จะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น   (เตาบัต :  108)

โดยสรุปแล้วการสร้างมัสยิดจึงไม่ใช่เพื่อให้ได้หลังใหญ่โตโอ่อา  หากแต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำสิ่งที่ดี เพื่อสังคมรอบข้าง  และมนุษย์โลกต่อไป

มัสยิดกูบาถูกสร้างในปีแรกของการฮิจเราะห์  การถือศิลอดก็ถูกบัญญัติในปีถัดมา  ด้วยเหตุนี้ ความยำเกรง  มัสยิด  และการถือศิลอดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน  ไม่สามารถแยกจากกันได้
บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวก เจ้าจะได้ยำเกรง  ( อัลบากอเราะห์ : 183 )

พื้นฐานสำคัญจากข้อนี้ เราได้ทำกันทุกปี  เพราะทุกปีเราถือศีลอด อันหมายถึงมีการยกระดับการพัฒนาในตัวตนอย่างต่อเนื่อง  เปรียบเช่นมีการตรวจสอบบัญชี  (Audit)  รายปี เพื่อดูการคงเหลืออยู่ของตักวาในบัญชีเรา และบัญชีสังคมเรา

หลักที่ 2  หลักแห่งการศึกษาหาความรู้ 
 อัลกุรอ่านถูกประทานในเดือนรอมฎอน  อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า
 
 





เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น…..”( อัลบากอเราะห์ : 185 )

จากอายัตข้างต้น เราสามารถทำความเข้าใจได้ใน  3  ประเด็น  คือ
1.       เพื่อเป็นทางนำต่อมวลมนุษย์
2.       เพื่อสร้างเข้าใจต่อทางนำที่มีมา  ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาทางวิชาการ
3.       เพื่อให้เกิดแบ่งแยกได้ระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่เป็นเท็จ

จากคำว่า อัลบัยยีนาต   ซึ่งก็คือ  การสร้างความกระจ่างแจ้งต่อมนุษย์   นั้นก็หมายถึง  ความรู้และความเข้าใจต่าง ๆ ต่อสิ่งที่มีในอัลกรุอ่าน

เมื่อสังคมมีพื้นฐานจากความศรัทธาและความยำเกรง  สิ่งที่ต้องมีตามมาก็คือ  ความรู้ มีความเข้าใจต่อหลักการต่าง ๆ ที่อัลเลาะห์ใช้คำว่า  อัลฮูดา

                สังคมเราจะก้าวหน้าไปได้จึงต้องเป็นสังคมแห่งความรู้  โดยเฉพาะความรู้ที่มาควบคู่กับหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใด    ที่ปฐมบทของอัลกรุอ่านที่ถูกประทานมา ด้วยคำว่า  อิกเราะ นั้นคือ    จงอ่าน  เพราะถ้าไม่มีการอ่านความรู้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ? 

                ความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ความรู้ศาสนา  หากแต่ต้องหมายถึงความรู้ใด ๆ จากสิ่งรอบข้าง จากสังคมจากโลก รวมถึงทั้งจักรวาล

                จึงไม่ใช่เรื่องแปลก  ต่อคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามในยุครุ่งโรจน์ ในอดีต  ที่มีเหล่าผู้รู้จากทุกสาขาวิชา  ในขณะที่ปัจจุบัน  เราตกต่ำหาใช่เพราะเหตุอื่นใดไม่  หากแต่เพราะส่วนใหญ่เราไม่สนใจในการศึกษาหาความรู้มากกว่า

                สรุปก็คือ  รอมฎอน นอกจากเพื่อการตรวจสอบ (Audit) บัญชีอีหม่าน แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบบัญชีความรู้ บัญชีวิชาการ บัญชีแห่งคุณธรรม   อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาใดๆ ในสังคมเรา


3. หลักแห่งความเมตตา  และความเป็นแบบอย่างต่อทุกมวลสรรพสิ่ง  (ลิลอาลามีน)
                ความยำเกรง ความใฝ่รู้  ไม่ไช่เรื่องส่วนบุคคล  หากแต่เป็นเรื่องของบุคคล ที่ต้องนำไปสู่สังคม  และสังคมที่ว่านี้ ก็คือสังคมโดยรวม หาไช่เพียงเพื่อคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น  หากแต่เพื่อมวลมนุษย์  ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใด และมีความเชื่ออย่างไร

                ประชาชนในมาดีนะห์ ที่ส่วนหนึ่งไม่ไช่มุสลิม แต่ก็ได้รับการดูแล ให้ความเท่าเทียม โดยท่านศาสดา รวมทั้งผู้สืบทอดที่รับช่วงต่อมาก็ไม่ต่างกัน

                การมาของศาสดาถือเป็นความเมตตา ผู้ตามศาสดาย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเมตตา รอมฎอนที่ผ่านมาก็เป็นเดือนแห่งความเมตตา  ความเมตตานี้ จะต้องคงอยู่สืบไป ตราบเท่าที่ความภักดีมั่นในหลักการได้รับการปฏิบัติที่ไม่ไช่แค่ในนามธรรม แค่ในตำรา ในบทบรรยาย   หากแต่มีเป็นรูปธรรมที่ผู้ศรัทธาได้น้อมนำ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

                อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า
และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย   อัลอัมบียา : 107)

แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการอิบาดะฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮโดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่ แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย อาลีอิมรอน  :  96

จากอายัตทั้งสองที่ยกมา ที่ลงท้ายด้วยลิลอาลามีน ที่หมายถึงประชาชาติทั้งหลาย หรือบางทัศนะแปลว่า ทั้งหลายทั้งสากลโลก ก็เป็นหลักฐานว่า สิ่งที่เรามีมา สิ่งที่เราได้ปฎิบัติไปในทางศาสนา จะต้องก่อให้เกิดผลสู่การสร้างสรรค์ และการจรรโลงโลกนี้ เพื่อความผ่าสุขต่อทุกมวลมนุษย์

สรุป
                การตรวจสอบบัญชีเราจึงมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ
1.      บัญชีด้านจิตใจ (รูฮานี)  หมายถึงความศรัทธาและความยำเกรงที่มีในใจแต่ละคน
2.      บัญชีด้านวิชาการ และความเข้าใจต่างๆ   หมายถึงการพัฒนาและยกระดับในตัวตน
3.      บัญชีด้านสังคม  หมายถึงการร่วมสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม

การที่เราทำได้ และผ่านเข้าถึงจากทั้ง 3 ส่วน ยิ่งมากขึ้นเท่าใด  ก็ยิ่งสามารถทำให้เรายกระดับคุณค่าแห่งตัวตนมากขึ้นเท่านั้น  การสอบบัญชีรายปีที่ผ่านไปทุกปี ย่อมหมายถึงตัวตนของเรา ได้รับการพัฒนามากขึ้น สังคมเราก็ต้องดีขึ้นด้วยไช่หรือไม่ ? 

คงไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ ได้ดีเท่ากับ ที่เราต้องตอบคำถามนี้ที่ตัวเราเอง จาก 2 ระดับต่อไปนี้

1. ในระดับตัวตนของเรา   เราต้องถือปฏิบัติจากสิ่งดีทั้งหลายที่มีในเดือนรอมฎอนให้ต่อเนื่องไป เราต้องหมั่นศึกษา หาความรู้  เพราะไม่มีใครสามารถก้าวหน้าได้ ถ้าไม่มีความรู้.  เราต้องเข้าถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ทางศาสนา ที่ไม่ไช่แค่พิธีกรรม ทำแล้วผ่านไป  แต่ให้ตระหนักเสมอว่า ทุกพิธีกรรม สามารถเป็นบทเรียนสู่การพัฒนาชีวิตตัวเรา  และสังคมเราได้ ถ้ารู้จักนำมาใช้

2. ชีวิตทางสังคมที่เราต้องพยายามสร้างสังคมแห่งความรัก ที่มีการเกื้อหนุน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการแบ่งแยก เพียงเพราะการต่างความคิด ต่างความเชื่อ คิดต่างทางการเมือง เป็นต้น.  สังคมที่มีพื้นฐานจากความตักวา  คือสังคมที่หลอมรวมใจกันเป็นหนึ่ง  มีความรักต่อคนรอบข้าง เสมือนหนึ่งรักตนเอง

การทำใจให้บริสุทธิ์เป็นเรื่องยาก แต่ผู้ศรัทธา ที่น้อมนำหลักคำสอน สู่หลักปฏิบัติ จากตัวเอง สู่สังคมรอบข้าง ต้องตระหนักเสมอว่า

....ในนั้น เพราะในมัสยิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ   อัตเตาบะห์  : 108