Saturday, August 25, 2012

บทเรียนรอมฎอน




รอมฎอนที่ได้จากลาเราไป หวังว่าคงจะได้มาซึ่งการเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชีวิตเราไม่น้อย  ชีวิตทั้งในทางส่วนตัว ทั้งในทางครอบครัว และทางสังคม

                สิ่งที่ได้จากรอมฎอนก็  คือ  การแสดงความภักดีมั่น   และความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  และผลแห่งความยำเกรงนั้น   หาใช่เพียงเพื่อการยกระดับมาตรฐานชีวิตแห่งตัวตนของแต่ละคนเท่านั้น  หากแต่ยังต้องมีผลสู่การจรรโลงสิ่งที่ดีงามต่อสังคมที่เราอยู่ด้วย  สมกับที่ว่า  เราะห์มาตันลิลอาลามีน   (เป็นความเมตตาทั่วทุกสากลโลก)

                ความสำเร็จที่แท้จริงของรอมฎอนจึงไม่ใช้แค่การได้อดทั้งเดือนจากช่วงเวลาที่ผ่านมา  หากแต่อยู่ที่การที่เราสามารถนำผลจากรอมฎอนไปใช้ต่อไป นับจากนี้ไปต่างหาก
                       
เหมือนคนที่ไปศึกษาร่ำเรียนวิชาการต่างๆ ผลสำเร็จสำคัญไม่ได้อยู่ที่การ ทำข้อสอบปีสุดท้ายเสร็จสิ้นและบรรลุลุล่วงไปด้วยดี  หากแต่อยู่ที่การนำผลได้จากเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาไปใช้ต่อทั้งเพื่อตัวเอง  เพื่อครอบครัว สังคมรอบข้าง  ประเทศชาติ  รวมทั้งมวลมนุษย์
       
                จากนี้ไปเป็นช่วงเวลาที่เราต้องหันมาใคร่ครวญตัวเอง  มองย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ผ่านมา  พยายามสรุปเป็นบทเรียน  พร้อมกับการสร้างความตระหนักในคุณค่าต่าง ๆ  จากรอมฎอน  จากนั้น เราก็ลองมองไปข้างหน้า กำหนดทิศทางชีวิต โดยใช้บทเรียนจากรอมฎอนที่ผ่านมา  เป็นแนวทางในการวางจังหวะก้าวต่อไป  ทั้งนี้เพื่อทำให้ชีวิตของเรา  ครอบครัวของเรา  และสังคมของเราดีขึ้นอย่างน้อยก็  4 ด้านต่อไปนี้คือ

1.       เราจะอดทน  และขยันขันแข็งในการดำเนินภารกิจใด ๆ  ที่เรารับผิดชอบ
2.       เราจะไม่ทำตามอารมณ์  และนัฟซู  (ความเห็นแก่ได้)  หากแต่จะควบคุมให้เป็นไปตามครรลองที่ชอบธรรม  ทั้งในทางศาสนา และกฎหมายบ้านเมือง
3.       เราจะมีความรักและความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน  ความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของใคร  เป็นสิ่งที่เราจะใส่ใจร่วมปกป้องและดูแล
4.       เราจะใช้จ่ายอย่างประหยัด  และจุลเจือทรัพยากรหรือเงินที่มีส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นทานต่อผู้ยากไร้

จากทั้ง 4 ข้อข้างต้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการที่เรามองย้อนอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงรอมฎอน  มองทั้งในแง่หลักคำสอนแล้ว ย้อนมองตัวเราเองว่ามีการปฏิบัติตัวที่ความสอดคล้องกับแก่นแท้ของหลักคำสอนไหม  ?   

แก่นแท้ของหลักคำสอน ซึ่งก็คืออัลกรุอ่านที่ถูกประทานมาในเดือนรอมฎอน เราสามารถกำหนดได้อย่างน้อยก็ 3 หลัก  ต่อไปนี้
1.       หลักแห่งความศรัทธาที่แน่วแน่และความยำเกรง
2.       หลักแห่งการศึกษาหาความรู้ 
3.       หลักแห่งความเมตตา  และความเป็นแบบอย่างต่อทุกมวลสรรพสิ่ง  (ลิลอาลามีน)

หลักที่   1 หลักแห่งความศรัทธาที่แน่วแน่และความยำเกรง
ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดที่ท่านศาสดาได้วางไว้  จากระยะเวลา  13  ปี  ที่เมกกะ  และหลังจากที่ได้ฮิจเราะห์สู่เมืองมาดีนะห์  ท่านศาสดามุ่งเป้าที่การสร้างให้เกิดเหล่าชนผู้ศรัทธาที่แน่วแน่ เริ่มจากแต่ละคน สู่สังคมโดยรวม  เมื่อตัวตนแต่ละคนเป็นแบบอย่างที่ดี สังคมโดยรวมก็ถูกพัฒนาไปในทางที่ดีด้วย  ซึ่งถูกเรียกต่อมาว่าประชาชาติที่ดีเลิศ  (คอยรออุมมะห์)

เริ่มแรกเมื่อศาสดาถึงมาดีนะห์  ก็มีการสร้างมัสยิด  เรียกชื่อว่ามัสยิดกูบา   ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของสังคมใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกวางไว้บนพื้นฐานของความศรัทธาอันแน่วแน่  และความยำเกรงที่ไม่คลอนแคลนใด ๆ บนหลักคิดที่ว่าอิสลามคือทางแห่งความเมตตา  ทางแห่งการจรรโลงสิ่งที่ดีงามต่อมวลมนุษย์  ความดีนี้เปล่งประกายจากมัสยิดฉายแสงไปทั่วทุกสรรพสิ่ง  อัลเลาะห์กล่าวว่า

 



แน่นอน มัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เจ้า จะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น   (เตาบัต :  108)

โดยสรุปแล้วการสร้างมัสยิดจึงไม่ใช่เพื่อให้ได้หลังใหญ่โตโอ่อา  หากแต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำสิ่งที่ดี เพื่อสังคมรอบข้าง  และมนุษย์โลกต่อไป

มัสยิดกูบาถูกสร้างในปีแรกของการฮิจเราะห์  การถือศิลอดก็ถูกบัญญัติในปีถัดมา  ด้วยเหตุนี้ ความยำเกรง  มัสยิด  และการถือศิลอดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน  ไม่สามารถแยกจากกันได้
บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวก เจ้าจะได้ยำเกรง  ( อัลบากอเราะห์ : 183 )

พื้นฐานสำคัญจากข้อนี้ เราได้ทำกันทุกปี  เพราะทุกปีเราถือศีลอด อันหมายถึงมีการยกระดับการพัฒนาในตัวตนอย่างต่อเนื่อง  เปรียบเช่นมีการตรวจสอบบัญชี  (Audit)  รายปี เพื่อดูการคงเหลืออยู่ของตักวาในบัญชีเรา และบัญชีสังคมเรา

หลักที่ 2  หลักแห่งการศึกษาหาความรู้ 
 อัลกุรอ่านถูกประทานในเดือนรอมฎอน  อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า
 
 





เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น…..”( อัลบากอเราะห์ : 185 )

จากอายัตข้างต้น เราสามารถทำความเข้าใจได้ใน  3  ประเด็น  คือ
1.       เพื่อเป็นทางนำต่อมวลมนุษย์
2.       เพื่อสร้างเข้าใจต่อทางนำที่มีมา  ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาทางวิชาการ
3.       เพื่อให้เกิดแบ่งแยกได้ระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่เป็นเท็จ

จากคำว่า อัลบัยยีนาต   ซึ่งก็คือ  การสร้างความกระจ่างแจ้งต่อมนุษย์   นั้นก็หมายถึง  ความรู้และความเข้าใจต่าง ๆ ต่อสิ่งที่มีในอัลกรุอ่าน

เมื่อสังคมมีพื้นฐานจากความศรัทธาและความยำเกรง  สิ่งที่ต้องมีตามมาก็คือ  ความรู้ มีความเข้าใจต่อหลักการต่าง ๆ ที่อัลเลาะห์ใช้คำว่า  อัลฮูดา

                สังคมเราจะก้าวหน้าไปได้จึงต้องเป็นสังคมแห่งความรู้  โดยเฉพาะความรู้ที่มาควบคู่กับหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใด    ที่ปฐมบทของอัลกรุอ่านที่ถูกประทานมา ด้วยคำว่า  อิกเราะ นั้นคือ    จงอ่าน  เพราะถ้าไม่มีการอ่านความรู้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ? 

                ความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ความรู้ศาสนา  หากแต่ต้องหมายถึงความรู้ใด ๆ จากสิ่งรอบข้าง จากสังคมจากโลก รวมถึงทั้งจักรวาล

                จึงไม่ใช่เรื่องแปลก  ต่อคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามในยุครุ่งโรจน์ ในอดีต  ที่มีเหล่าผู้รู้จากทุกสาขาวิชา  ในขณะที่ปัจจุบัน  เราตกต่ำหาใช่เพราะเหตุอื่นใดไม่  หากแต่เพราะส่วนใหญ่เราไม่สนใจในการศึกษาหาความรู้มากกว่า

                สรุปก็คือ  รอมฎอน นอกจากเพื่อการตรวจสอบ (Audit) บัญชีอีหม่าน แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบบัญชีความรู้ บัญชีวิชาการ บัญชีแห่งคุณธรรม   อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาใดๆ ในสังคมเรา


3. หลักแห่งความเมตตา  และความเป็นแบบอย่างต่อทุกมวลสรรพสิ่ง  (ลิลอาลามีน)
                ความยำเกรง ความใฝ่รู้  ไม่ไช่เรื่องส่วนบุคคล  หากแต่เป็นเรื่องของบุคคล ที่ต้องนำไปสู่สังคม  และสังคมที่ว่านี้ ก็คือสังคมโดยรวม หาไช่เพียงเพื่อคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น  หากแต่เพื่อมวลมนุษย์  ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใด และมีความเชื่ออย่างไร

                ประชาชนในมาดีนะห์ ที่ส่วนหนึ่งไม่ไช่มุสลิม แต่ก็ได้รับการดูแล ให้ความเท่าเทียม โดยท่านศาสดา รวมทั้งผู้สืบทอดที่รับช่วงต่อมาก็ไม่ต่างกัน

                การมาของศาสดาถือเป็นความเมตตา ผู้ตามศาสดาย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเมตตา รอมฎอนที่ผ่านมาก็เป็นเดือนแห่งความเมตตา  ความเมตตานี้ จะต้องคงอยู่สืบไป ตราบเท่าที่ความภักดีมั่นในหลักการได้รับการปฏิบัติที่ไม่ไช่แค่ในนามธรรม แค่ในตำรา ในบทบรรยาย   หากแต่มีเป็นรูปธรรมที่ผู้ศรัทธาได้น้อมนำ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

                อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า
และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย   อัลอัมบียา : 107)

แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการอิบาดะฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮโดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่ แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย อาลีอิมรอน  :  96

จากอายัตทั้งสองที่ยกมา ที่ลงท้ายด้วยลิลอาลามีน ที่หมายถึงประชาชาติทั้งหลาย หรือบางทัศนะแปลว่า ทั้งหลายทั้งสากลโลก ก็เป็นหลักฐานว่า สิ่งที่เรามีมา สิ่งที่เราได้ปฎิบัติไปในทางศาสนา จะต้องก่อให้เกิดผลสู่การสร้างสรรค์ และการจรรโลงโลกนี้ เพื่อความผ่าสุขต่อทุกมวลมนุษย์

สรุป
                การตรวจสอบบัญชีเราจึงมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ
1.      บัญชีด้านจิตใจ (รูฮานี)  หมายถึงความศรัทธาและความยำเกรงที่มีในใจแต่ละคน
2.      บัญชีด้านวิชาการ และความเข้าใจต่างๆ   หมายถึงการพัฒนาและยกระดับในตัวตน
3.      บัญชีด้านสังคม  หมายถึงการร่วมสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม

การที่เราทำได้ และผ่านเข้าถึงจากทั้ง 3 ส่วน ยิ่งมากขึ้นเท่าใด  ก็ยิ่งสามารถทำให้เรายกระดับคุณค่าแห่งตัวตนมากขึ้นเท่านั้น  การสอบบัญชีรายปีที่ผ่านไปทุกปี ย่อมหมายถึงตัวตนของเรา ได้รับการพัฒนามากขึ้น สังคมเราก็ต้องดีขึ้นด้วยไช่หรือไม่ ? 

คงไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ ได้ดีเท่ากับ ที่เราต้องตอบคำถามนี้ที่ตัวเราเอง จาก 2 ระดับต่อไปนี้

1. ในระดับตัวตนของเรา   เราต้องถือปฏิบัติจากสิ่งดีทั้งหลายที่มีในเดือนรอมฎอนให้ต่อเนื่องไป เราต้องหมั่นศึกษา หาความรู้  เพราะไม่มีใครสามารถก้าวหน้าได้ ถ้าไม่มีความรู้.  เราต้องเข้าถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ทางศาสนา ที่ไม่ไช่แค่พิธีกรรม ทำแล้วผ่านไป  แต่ให้ตระหนักเสมอว่า ทุกพิธีกรรม สามารถเป็นบทเรียนสู่การพัฒนาชีวิตตัวเรา  และสังคมเราได้ ถ้ารู้จักนำมาใช้

2. ชีวิตทางสังคมที่เราต้องพยายามสร้างสังคมแห่งความรัก ที่มีการเกื้อหนุน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการแบ่งแยก เพียงเพราะการต่างความคิด ต่างความเชื่อ คิดต่างทางการเมือง เป็นต้น.  สังคมที่มีพื้นฐานจากความตักวา  คือสังคมที่หลอมรวมใจกันเป็นหนึ่ง  มีความรักต่อคนรอบข้าง เสมือนหนึ่งรักตนเอง

การทำใจให้บริสุทธิ์เป็นเรื่องยาก แต่ผู้ศรัทธา ที่น้อมนำหลักคำสอน สู่หลักปฏิบัติ จากตัวเอง สู่สังคมรอบข้าง ต้องตระหนักเสมอว่า

....ในนั้น เพราะในมัสยิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ   อัตเตาบะห์  : 108

Saturday, August 18, 2012

HALAL BI HALAL at HONGKONG



ร่วมรับรู้ ร่วมตระหนัก ร่วมใส่ใจกับความผิดพลาด ความบกพร่องในตัวตน
จะแน่วแน่แก้ไขที่ตัวเอง  จะใส่ใจต่อพี่น้องและผองเพื่อนทุกๆ คน

Wednesday, August 15, 2012

ขออภัย






คุณค่าแห่งมาอัฟในอิดิลฟิตรี

มาอัฟ ซอฮิร และบาติน เป็นคำพูดที่มาคู่กับการต้อนรับอิดิลฟิตรี หรืออาจจะกล่าวได้ว่าวันอีด ดูจะไม่สมประกอบนัก หากไร้ซึ่งการขอมาอัฟ หรืออภัยในซึ่งกันและกัน

การขออภัยโทษในซึ่งกันและกันมีส่วนเกี่ยวโยงกับหลักการศาสนา ท่านศาสดาได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วมุมินเมื่อได้พบกันจะต้องให้สลามและจับมือกัน ความผิดพลาดทั้งหลายจากคนทั้งสองก็จะร่วงหล่นเฉกเช่น ใบไม้ที่เหี่ยวแห้งร่วงหล่นจากต้น(รายงานโดยมุสลิม)

ปรัชญาและจิตวิญญาณแห่งเซาวาล
การเริ่มต้นของเดือนเซาวาลด้วยอิดิลฟิตรี อเป็นการเริ่มต้นแห่งความสันติสุข ทั้งในระดับครอบครัว การเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ตลอดจนในระหว่างเหล่าชนผู้ศรัทธาทั้งหลาย ไม่ว่าจะผู้ในสถานภาพใดทางสังคม ทุกคนจะร่วมกันต้อนรับอิดิลฟิตรีอย่างอิ่มเอิบ ทุกคนจะจับมือให้สลามต่อกัน และให้คำอวยพรด้วยถ้อยคำที่ดี ตลอดจนการขออภัยโทษในซึ่งกันและกัน

วันอิดิลฟิตรี ถือเป็นจังหวะเวลาที่ดีที่สุดแล้วในการลืมสิ้นซึ่งความขุ่นข้องหมองใจ เพราะไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะมาถือโทษโกรธเคือง หรือผูกใจเจ็บต่อกัน

สวรรค์เป็นที่พำนักสำหรับบ่าวของอัลเลาะห์ ที่มีความรักใคร่และความเมตตาปราณีต่อกัน ด้วยเหตุนี้จงยื่นมือออกไปเพื่อสลามต่อกัน และขออภัยต่อเขาแม้ว่าในความเป็นจริงเราไม่ใช่คนผิดก็ตาม

ท่านศาสดาฯ ได้กล่าวต่อท่านอุกบะห์ บินอามีรว่า  โอ้ อุกบะห์ท่านอยากจะรู้มารยาทที่ดีที่สุดสำหรับชาวโลกดนยาและคนที่อยู่ในโลกอาคีรัตไหม  มารยาทนั้นก็คือท่านต้องให้อภัยต่อคนที่ได้รังแกท่าน อีกทั้งท่านได้ให้ความช่วยเหลือ หรือบริจาคทรัพย์สิน ต่อคนที่ได้ตัดขาดจากตัวท่าน  และท่านได้เชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนที่ได้ยุติความสัมพันธ์กับท่าน (รายงานโดยอัลฮากิม ในกีตาบอัลมุสตัดรอก)

คุณค่าของการให้อภัย
การขอมาอัฟไม่ได้หมายถึงการเป็นคนขี้ขลาดตาขาว แต่หมายถึงความยิ่งใหญ่ทางบุคลิกภาพ และกิริยามารยาท ท่านศาสดาได้กล่าวว่า  แท้จริงแล้วเมื่อคนมุมินสองคนได้พบกันและมีการจับมือสลามต่อกันเพื่ออัลเลาะห์ จะไม่มีการร่ำลากันระหว่างคนสองคนเว้นเสียแต่จะได้รับการอภัยโทษในความผิดบาปของเขา โดยอัลเลาะห์  (รายงานโดย อาบู ดาวุด)

ความเป็นพี่น้องกับอิดิลฟิตรี
วันอีดถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการเชื่อมสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องและผูกสัมพันธ์กับญาติมิตร  ท่านอับดุลเลาะห์บิน อับบาสได้กล่าวา จงรักษาวงศ์ตระกูลด้วยการดูแลและใส่ใจในระหว่างเครือญาติ
อิบนูอูมัร ได้ให้คำแนะนำว่า จงทำความรู้จักกับญาติพี่น้อง และจงเชื่อมความสัมพันธ์ในระหว่างกัน

ด้วยเหตูนี้เราทุกคนควรต้องละทิ้งภารกิจและความยุ่งเหยิงต่างๆ ส่วนตัว และหันมาติดต่อพูดคุยไต่ ถามสารทุกข์สุกดิบของพี่น้อง  จงออกไป เยี่ยมเยียม พวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่สืบสายโลหิตทั้งฝ่ายบิดาหรือมารดา

ความสำคัญในการดูแลพี่น้อง
การดูแลความพี่น้องมีความสำคัญและสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติหนึ่งของชาวสวรรค์ อาบูอายุบ อัลอันซอรี ได้กล่าวว่ามีชายคนหนึ่งได้มาพบกับท่านรอซูลลุลเลาะห์ และได้สอบถามถึงภารกิจที่ทำให้คนหนึ่งสามารถเป็นชาวสวรรค์ และภารกิจที่สามารถทำให้หลีกไกลจากไฟนรก ท่านศาสดาได้กล่าวตอบว่า ท่านต้องภักดีในอัลเลาะห์โดยไม่มีสิ่งใดๆ เป็นภาคี ท่านต้องละหมาด, ท่านต้องจ่ายซะกาตและท่านได้มีการเชื่อมสัมพันธ์ในหมู่พี่น้อง   (รายงานโดยบูคอรีและมุสลิม)

ก้าวสู่ความรัดรึงในคณาญาติ
การเยี่ยมเยียนที่มาพร้อมกับการมอบสิ่งของด้วยความบริสุทธ์ใจ เป็นสิ่งที่สามารถนำมาซึ่งความมั่นคงและรัดรึงอย่างแน่นแฟ้นในหมู่ญาติพี่น้อง การพาของกิน,หรือของใช้รวมทั้งการบริจาคทรัพย์สิน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ในระหว่างคณาญาติ  ท่านศาสดาได้กล่าวว่า  จงแลกเปลี่ยนของขวัญ หรือการบริจาค แน่นอนว่าท่านจะเป็นที่รักและสลายความเกลียดชังต่อกัน(รายงานโดยบัยฮากี)

            นอกจากนี้ท่านศาสดายังกล่าวอีกว่า  ใครที่สามารถนำามาซึ่งความสุขสันต์ภายในใจของคนในครอบครัว แน่นอนว่าอัลเลาะห์จะนำเขาสู่การเป็นส่วนหนึ่งของชาวสวรรค์ (รายงานโดยฎอบารอนี)

            ในส่วนของการบริจาคเงินให้กับเด็กๆ หรือผู้ยากไร้นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ให้เป็นสำคัญสิ่งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับหลักศาสนาและไม่ถือเป็นความจำเป็นเหมือนกับซะกาตฟิตเราะห์

            แต่การให้เงินเด็กๆ ก็ควรที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ด้วย  เพราะหาไม่แล้วเด็กๆ อาจจะใช้เงินอย่างไม่ถูกต้อง เช่น มีการนำเงินไปซื้อลูกประทัด หรือของเล่นอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เพราะสิ่งที่บริจาคในวันดีๆ ก็ควรที่จะถูกนำไปใช้เพื่อสิ่งที่เป็นความดีงาม

          เริ่มต้นเซาวัลอันมีเกียรติยิ่งนี้ จะเป็นการเริ่มต้นของสิ่งดีงามทั้งหลาย เป็นความสุขสดชื่นสำหรับเรา ไม่เฉพาะแต่วันนี้หากแต่สิ่งนี้จะคงมีอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป....

บันทึกรอมฎอน

ภาพประกอบเท่านั้น


บันทึกชีวิต .......

รอมฎอนแรกของชีวิตในปีที่ผ่านมา เป็นรอมฎอนที่เธอต้องต้อนรับด้วยน้ำตาที่รินไหลออกมาอย่างยากที่จะหยุดยั้ง

เธอ ร้องให้ แต่ไม่ไช่เพราะความหิว แต่ร้องให้เพราะได้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองถึงความทุกข์ยากของผู้คน  วันนี้เธอไม่ได้หิวอยู่คนเดียว  แต่ยังมีมนุษย์โลกอีกมากที่อยู่กับความหิว   มนุษย์โลกอีกมากที่ทั้งชีวิตยังไม่เคยได้ลิ้มรสกับความอิ่ม

เธอจึงไม่ได้เดียวดาย หากแต่เธอยังคิดเสมอว่า ความทุกข์ยากของเธอ เป็นเพียงแค่น้อยนิดเท่านั้น เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ อีกมากมาย

เธอ ร้องให้ ไม่ไช่เพราะความทุกข์ หากแต่เธอสุขใจจนทำให้น้ำตาปริ่มออกมา เมื่อได้ตระหนักว่า ด้วยฮิดายะห์ที่เธอได้รับมา ช่างประเสริฐและยิ่งใหญ่เหลือเกิน

เธอร้องให้ เพราะด้วยฮิดายะห์นี้ ทำให้เธอรู้ว่า อิสลามได้สอนให้ผู้มีศรัทธาทุกคน จะต้องพบกับความหิว และด้วยความหิวนี้  ทำให้เราได้เข้าใจในมนุษย์โลกมากขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้ยากไร้

และ ก็เช่นเดียวกับรอมฎอนในปีนี้ เธอยังคงต้อนรับด้วยน้ำตาอีกเช่นเดิม ซึ่งไม่ไช่แค่เพราะความตระหนักในความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์เท่านั้น  หากแต่เธอวิตกกังวลอีกทั้งกลัวว่าอีบาดะห์ที่เธอได้ทำไปจะไม่สมบูรณ์

เธอร้องให้ ด้วยกลัวว่าความผิดบาปทั้งหลาย จะไม่ได้รับการอภัยโทษจากพระองค์

เธอร้องให้ เพราะด้วยการกียามุลลัยล์ และอีบาดะห์ซุนนะห์ทั้งหลายยังคงบกพร่อง

เธอร้องให้ เพราะยังคงมิอาจอ่านอัลกุรอานได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนกับหลายๆ คน

เธอร้องให้ ด้วยความห่วงหายิ่งนักกับรอมฎอนที่กำลังจะจากไปใน 2 – 3 วันนี้แล้ว

เธอคิดเสมอว่า  “จะมีโอกาสได้สัมผัสกับรอมฎอนอันประเสริฐยิ่งนี้ ในรอมฎอนครั้งหน้าอีกไหม ?”

น้ำตารอมฎอนของเธออาอีซะห์ ถือเป็นน้ำตาจากความตักวาและความภักดียิ่งแด่อัลเลาะห์ตะอาลา

น้ำตาของผู้ปรารถนาจะได้ใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาล ผู้เต็มไปด้วยความรัก และความเมตตาปราณียิ่งเสมอมา

Tuesday, August 14, 2012

ชะกาต บทบาทกับสิ่งที่เป็นไป (1)


 ภาพประกอบเท่านั้น







  สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับซะกาตฟิตเราะห์

                 มุสลิมทุกคนควรตระหนักในการจ่ายเงินหรือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้กับผู้อื่น  สิ่งนี้มุสลิมส่วนใหญ่รู้   แต่ในการปฏิบัติทุกวันนี้เป็นอย่างไร  สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของหลักการหรือไม่  คือสิ่งที่ต้องมาใคร่ครวญกัน อย่างน้อยก็ดังโจทย์ต่อไปนี้

โจทย์ที่  1  ซะกาตฟิฎเราะห์คืออะไร  และใครบ้างที่ต้องจ่าย
            ซะกาตด้านภาษาบ่งชี้ถึง การเจริญเติบโต งอกเงย เพิ่มพูน ขัดเกลาให้สะอาด และความประเสริฐ
                                                                                                                                                                                                                                                                                    
            ส่วนคำว่า ฟิฏรฺ หรือฟิฏเราะฮฺ ด้านภาษาหมายถึง การเปิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือทำให้แตกและแยกออก        

ซะกาตฟิฏเราะฮฺ หมายถึง การบริจาคทานที่ถูกกำหนดให้มุสลิมทุกคนต้องจ่าย เนื่องจากการสิ้นสุดของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการขัดเกลาผู้ถือศีลอดให้สะอาดบริสุทธิ์จากความหลงลืมและการพูดที่โสมม


              ในอีกความหมายหนึ่ง ซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือซะกาตแห่งตัวตนหรือซะกาตแห่งชีวิต  เพราะมุสลิมทุกคนต้องจ่าย  ทั้งชาย-หญิง  ทั้งเด็กแรกเกิดจนถึงคนแก่เฒ่า  หรือแม้แต่คนสติไม่สมประกอบ

             อาบีฮูรัยเราะห์ ได้กล่าว  ความว่า  ท่านศาสดาได้วายิบ  (บังคับ) ให้จ่ายซะกาตฟิฎเราะห์  ในเดือนรอมฎอนทั้งในหมู่ผู้เป็นไท เป็นทาส ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง  เด็กแรกเกิด คนแก่ คนรวยและคนจน ในบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย( อะห์มัด, บุคอรี และมุสลิม )

            ผู้ปกครอง/ คนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา เป็นคนจ่าย  

           ท่านศาสดากล่าวว่า  จงจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ จากทุกคนที่เป็นผู้รับผิดชอบของท่านทั้งหลาย (บัยฮากี)

โจทย์ที่  2  ลูกบุญธรรม เด็กกำพร้า  ลูกเลี้ยง  ใครจ่ายให้  ?

              เป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้ปกครอง / ผู้ดูแล ในที่นี้ก็หมายถึงญาติทางสายเลือด  หรือผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเด็ก ๆ  เหล่านั้น  ซึ่งก็คือ พ่อ ปู ลุง .

             กรณีลูกบุญธรรมที่ไม่พบญาติทางสายเลือด  ผู้รับผิดชอบในการเลี้ยงดู ซึ่งก็คือพ่อบุญธรรมที่จะต้องจ่ายให้

            กรณีเด็กกำพร้า  ถ้าไม่มีหรือไม่พบญาติทางสายเลือด  ผู้ดูแลก็ต้องรับภาระในการจ่ายให้  เช่น เดียวกับกรณีลูกเลี้ยง ถ้าไม่ปรากฏญาติทางสายเลือด พ่อเลี้ยงก็ต้องรับภาระในการจ่ายให้

                กรณีเด็กสามารถหารายได้ ได้ด้วยตัวเอง ก็ควรส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกในการจ่าย  แต่ภาระที่แท้จริงก็ยังเป็นของผู้ปกครอง  หรือผู้เป็นญาติเหนือขึ้นไปทางสายเลือด

โจทย์ที่ 3  ลูกสาวที่ทำงานมีรายได้ของตนเองยังคงเป็นภาระของผู้ปกครองหรือไม่  ?

                คนที่สามารถทำงานหาเงินได้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย  เขาก็ควรจ่ายซะกาตเอง  และสามารถจ่ายซะกาตเพื่อพ่อแม่ได้ด้วย  ทั้งนี้ก็ต้องบอกให้พ่อแม่ได้รู้ด้วย

โจทย์ที่  4  ต้องจ่ายซะกาตเวลาไหน
              เริ่มต้นรอมฎอนก็สามารถจ่ายซะกาตได้  ดังที่ฮาดิษจากอูมัรที่ได้กล่าวว่า  ท่านศาสดาได้บังคับให้จ่ายซะกาตในเดือนรอมฎอน

                อย่างไรก็ตามก็มีข้อขัดแย้งทางความคิดของเหล่าผู้รู้ที่เกี่ยวกับเวลาที่วาญิบ อีหม่ามซาฟิอี  และ อีหม่ามมาลิก  เห็นว่า  เวลาที่ต้องจ่ายก็คือ  เวลาแสงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนได้สิ้นสุดลง  ในขณะที่อีหม่ามฮานีฟะห์ เห็นว่า  บังคับให้ต้องจ่ายหลังจากที่แสงแรกของเดือนเซาวาลได้ออกมา
   
                แต่เพื่อง่ายในการปฏิบัติ  นักการศาสนาส่วนหนึ่งได้แบ่งเวลาดังนี้
1.       สามารถจ่ายได้ทันทีหลังเข้าสู่รอมฎอน
2.       เวลาที่ดีที่สุดก็คือก่อนละหมาดอีดิลฟิฎรี
         3.  ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฎเราะห์หลังจากเลยเวลาที่ถูกกำหนดไว้ หรือหลังจากละหมาดอีดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ หลังละหมาดอีด จะถือว่าซะกาตที่ได้จ่ายไปนั้นเป็นซะกาตทั่วๆไป ไม่ใช่ซะกาตฟิฏเราะฮฺ         
                       
โจทย์ที่  5  ถ้าลืมจ่ายล่ะจะต้องทำไง  ?
             การจ่ายซะกาตเป็นภาระสำคัญของมุสลิม  ในการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งไม่ควรที่จะลืม  ผู้ที่ลืมมักจะเกิดจากการถ่วงเวลารอจ่ายในช่วงท้าย ๆ  ซึ่งก็มีผู้บอกว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุด  ได้บุญมากที่สุด  ผมเห็นว่าการได้บุญ จะมากหรือน้อยเป็นเรื่องของอัลเลาะห์  ส่วนที่เป็นเรื่องของเราก็คือต้องจ่ายตามช่วง เวลาที่กำหนด

                คนที่ลืมเมื่อนึกขึ้นได้ก็ต้องรีบหาคนที่มีสิทธิรับและจ่ายให้ทันที  พร้อมทั้งขอเตาบัต  (ขอลุแก่โทษ ) พร้อมตั้งจิตให้มั่นว่าจะไม่ลงลืมกับภาระเช่นนี้อีก

โจทย์ที่  6  ถือศีลอดไม่ขาดแต่ไม่ยอมจ่ายซะกาต

               การถือศีลอดเป็นสิ่งที่ต้องทำ  (วาญิบ)  การจ่ายซะกาตเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายเช่นกัน การละเลยสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือเป็นบาป

                อิบนูอูมัรได้กล่าวว่า  ท่านศาสดาได้สั่งให้เราจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ก่อนที่ผู้คนจะออกมาละหมาด อีดิลฟิฎรี  (บูคอรีและมุสลิม)

                เหล่าผู้รู้ได้ให้ความเห็นว่าคนที่ตั้งใจไม่จ่าย   และไม่ถือเป็นวาญิบสำหรับตนเองเขาอาจจะตกอยู่ในฐานะกูฟูร / สิ้นสภาพ

โจทย์ที่    7     คนยากจนต้องจ่ายซะกาตด้วยหรือ  ?

              ซะกาตฟิฏเราะฮฺ ถูกบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะใด  ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเขาต้องมีอาหารเพียงพอในการรับประทานนับจากคืนอีด  (1 เชาวัล)  จนถึงสิ้นวันอีด   คนที่อยู่นอกเงื่อนไขนี้จะต้องจ่ายทุกคน

                แต่ก็มีบางทัศนะเห็นว่าคนยากจนที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยเงินซะกาต  เขาไม่ต้องรับภาระในการจ่ายอีก  เพราะเงินที่เขามีก็เงินซะกาตนั้นเอง

โจทย์ที่  8  จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงินหรือด้วยข้าวสาร ?
                แต่เดิมซะกาตฟิฏเราะฮฺ คือการจ่ายด้วยอาหารหลัก  แต่ก็มีทัศนะบอกว่าจ่ายแทนด้วยเงินก็ได้  การจ่ายด้วยเงินก็เป็นการตัดสินใจของอูมัร อับดุลอาซิซ  ท่านได้บอกว่าการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ สามารถทดแทนได้ด้วยสิ่งมีค่า  (เงิน)  ทุกวันนี้เงินถูกใช้เพื่อชำระหนี้ /เพื่อการแลกเปลี่ยน  อาหาร/ สิ่งของ  เงินจึงถือว่าสมควร

อย่างไรก็ตาม อุละมาอ์ส่วนใหญ่ (มัซฮับมาลิกีย์ ชาฟิอีย์ และฮัมบาลีย์)    ไม่อนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงินแทนอาหาร และผู้ใดจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงิน ซะกาตฟิฏเราะฮฺ ของเขาจะไม่ถูกรับ เพราะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ถึงการอนุญาต  
            ส่วนมัซฮับหะนะฟีย์ มีทัศนะว่าอนุญาตให้จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ด้วยเงิน

โจมย์ที่   9  ถ้าไม่จ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ผลบุญจากการถือศีลอดถูกแขวน ?

               ท่านศาสดาได้กล่าวว่า  ศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ถูกผูกไว้ระหว่างชั้นดินกับแผ่นฟ้า  และจะไม่ถูกนำไปสู่อัลเลาะห์  เว้นเสียแต่ด้วยซะกาตฟิฏเราะฮฺ ( อิบนูอาซากีร)

                แต่เหล่านักฮาดิษได้แสดงความกังขาต่อความถูกต้องของฮาดิษนี้  และแย้งกับฮาดิษอื่นที่ได้กำหนดอีบาดะห์เฉพาะต่าง    สำหรับเดือนรอมฎอน ผมเห็นว่าอีบาดะห์อะไรก็แล้วแต่เมื่อได้ถูกกระทำอย่างสมบูรณ์และครบถ้วน   ก็เป็นสิทธิของอัลเลาะห์ที่จะตอบรับหรือไม่  ?

โจทย์ที่   10  ซะกาตฟิฏเราะฮฺ ต้องจ่ายให้คนยากจนเท่านั้นหรือ
                เป็นความแตกต่างทางความคิด    (คิลาฟ)  บ้างก็เห็นว่าเฉพาะสำหรับคนยากจนคนอนาถา  (ฟากิร /มิสกิน ) แต่อีกส่วนก็เห็นว่าผู้มีสิทธิรับซะกาตทั้งแปดประเภทก็มีสิทธิรับซะกาตฟิฏเราะฮฺ เช่นกัน

                นอกจากนี้ก็ยังมีความเห็นว่า  สามารถจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ให้กับคนต่างศาสนิกก็ได้  (ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลาม)  ในกรณีที่คนต่างศาสนิกนั้นมีฐานะยากจน

โจทย์ที่  11   จ่ายซะกาตฟิตเราะห์แทนที่ลูกจ้างที่ทำงานในบ้านเราได้หรือไม่

               ลูกจ้างไม่ใช่ภาระโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบในการเลี้ยงดู  ลูกจ้างคือคนทำงานที่ได้ค่าจ้าง  ลูกจ้างต้องจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ ของตนเอง

              แต่ถ้านายจ้างประสงค์ที่จะจ่ายให้ก็ไม่ผิดแต่เพียงต้องบอกให้ทราบ  และต้องได้รับอนุญาตด้วย  เพราะไม่ใช่สิทธิของนายจ้างโดยตรง

โจทย์ที่  12    ลูกที่เกิดในคืนอีดิลฟิฎรีต้องจ่ายไหม่
              ไม่ต้องเพราะวันอีดหรือกลางคืนถือว่าสิ้นสุดรอมฎอนแล้ว

โจทย์ที่  13  หญิงตั้งท้องที่ครบกำหนดคลอดแล้ว แต่ยังไม่คลอดจนล่วงเลยวันที่  1  เชาวัล
               ในหนังสือ  ฮูกุมซะกาตของ    ดร. ยุชุฟ  ฎอร์ฎอวีย์  สรุปว่าไม่ต้องจ่ายเพระอิสลามไม่ได้สร้างภาระใดต่อลูกที่ยังอยู่ในท้องของมารดา

โจทย์ที่  14  ซะกาตฟิตเราะห์กับซะกาตทรัพย์สินจ่ายในช่วงเวลาเดียวกัน
                    ไม่ผิดใดๆ  หากแต่เป็นสิ่งที่ส่งเสริมควรกระทำอย่างยิ่ง  มีอาดิษรายงานจาก  อิบนู คูชัยมะห์  จากชัลมาล อัลฟารีชี ระบุว่า  ทุกอามัลทุกชนิดในเดือนรอมฎอน  จะได้รับผลตอบแทนถึง  70  เท่า


โจทย์ที่  15  ทำไหมบางคนต้องจ่ายซะกาตไม่เหมือนหรือไม่เท่ากับคนอื่น ๆ
                คนที่ใส่ใจและระมัดระวังในการประกอบภารกิจทางศาสนา  เขาจะคำนึงถึงความถูกต้องเป็นหลัก   ราคาข้าวสารแต่ละที่  หรือที่แต่ละคนได้บริโภคอาจต่างกัน  คนที่คำนึงถึงความถูกต้องที่สุด ย่อมคิดอย่างรอบคอบก่อนที่จะจ่ายไปจ่ายเท่าใด หรือจ่ายให้ใคร

คุณค่าแห่งซะกาตฟิตเราะห์
                ในทุกภาระกิจที่เราต้องทำถ้าสิ่งนั้นเป็นข้อบัญญัติ  ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเฉกเช่นเดียวกับการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ อย่างน้อยก็   5  ด้านต่อไปนี้

1.    เป็นการสร้างความอิ่มเอิบใจ  ให้กับผู้รับโดยเฉพาะต่อคนยากจนที่เราต้องใส่ใจเขาเป็นพิเศษ  ความสุขของเขาอาจพบได้ยากมากในชีวิต  สิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขามีความสุขใจได้ อย่างน้อย    ก็ในวันสำคัญนี้

2.    สร้างความบริสุทธิ์ต่อทรัพย์สินเฉกเช่นเดียวกับการถือศีลอดที่ผ่านมา ถ้าทำอย่างที่ถูกต้องย่อมเป็นการสร้างความบริสุทธิ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ  โดยเฉพาะในทางศาสนา  การสร้างความบริสุทธิ์ในทางทรัพย์สินก็โดยการจ่ายให้กับผู้ที่ควรรับ เป็นการลดความรู้สึกหวงแหน ความตระหนี่ถี่เหนี่ยว  ความรู้สึกที่มุ่งแก่ได้  ทดแทนด้วยความรัก ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่เหล่าผู้ศรัทธาต้องมีให้กับเพื่อนมนุษย์

3.     เป็นการชำระล้างคนที่ถือศีลอด  จากความผิดบาป  อิบนุอับบาสได้กล่าวว่า   ท่านศาสดาได้วายิบในการจ่ายซะกาตฟิฏเราะฮฺ เพื่อเป็นการชำระล้างคนที่ถือศิลอดจากคำพูดที่สูญเปล่า  และคำพูดที่ไม่ดี  พร้อมทั้งการให้อาหารต่อผู้ยากไร้  (อาบูดาวุด )

4.     บ่งชี้ต่อระดับความศรัทธาต่อพระเจ้าเพราะถ้าเขาพร้อมที่จะถือศิลอด แต่ ละเลยหรือไม่ใส่ใจต่อการจ่ายซะกาตย่อมแสดงถึงความศรัทธาที่ยังเปราะบาง

5.     การจ่ายซะกาตถือเป็นจุดสุดยอดสำหรับภารกิจในเดือนรอมฎอน  ด้วยการแบ่งปันทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้กับผู้อื่น  ถ้าเงินเพียงเล็กน้อยเขาไม่อาจจะจ่ายให้กับผู้อื่น  แล้วจะมีอะไรอีกเล่าที่สามารถจะแบ่งปันให้พี่น้องร่วมสังคมนี้ได้