Saturday, August 25, 2012

บทเรียนรอมฎอน




รอมฎอนที่ได้จากลาเราไป หวังว่าคงจะได้มาซึ่งการเรียนรู้ที่สำคัญให้กับชีวิตเราไม่น้อย  ชีวิตทั้งในทางส่วนตัว ทั้งในทางครอบครัว และทางสังคม

                สิ่งที่ได้จากรอมฎอนก็  คือ  การแสดงความภักดีมั่น   และความยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  และผลแห่งความยำเกรงนั้น   หาใช่เพียงเพื่อการยกระดับมาตรฐานชีวิตแห่งตัวตนของแต่ละคนเท่านั้น  หากแต่ยังต้องมีผลสู่การจรรโลงสิ่งที่ดีงามต่อสังคมที่เราอยู่ด้วย  สมกับที่ว่า  เราะห์มาตันลิลอาลามีน   (เป็นความเมตตาทั่วทุกสากลโลก)

                ความสำเร็จที่แท้จริงของรอมฎอนจึงไม่ใช้แค่การได้อดทั้งเดือนจากช่วงเวลาที่ผ่านมา  หากแต่อยู่ที่การที่เราสามารถนำผลจากรอมฎอนไปใช้ต่อไป นับจากนี้ไปต่างหาก
                       
เหมือนคนที่ไปศึกษาร่ำเรียนวิชาการต่างๆ ผลสำเร็จสำคัญไม่ได้อยู่ที่การ ทำข้อสอบปีสุดท้ายเสร็จสิ้นและบรรลุลุล่วงไปด้วยดี  หากแต่อยู่ที่การนำผลได้จากเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้ร่ำเรียนมาไปใช้ต่อทั้งเพื่อตัวเอง  เพื่อครอบครัว สังคมรอบข้าง  ประเทศชาติ  รวมทั้งมวลมนุษย์
       
                จากนี้ไปเป็นช่วงเวลาที่เราต้องหันมาใคร่ครวญตัวเอง  มองย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ผ่านมา  พยายามสรุปเป็นบทเรียน  พร้อมกับการสร้างความตระหนักในคุณค่าต่าง ๆ  จากรอมฎอน  จากนั้น เราก็ลองมองไปข้างหน้า กำหนดทิศทางชีวิต โดยใช้บทเรียนจากรอมฎอนที่ผ่านมา  เป็นแนวทางในการวางจังหวะก้าวต่อไป  ทั้งนี้เพื่อทำให้ชีวิตของเรา  ครอบครัวของเรา  และสังคมของเราดีขึ้นอย่างน้อยก็  4 ด้านต่อไปนี้คือ

1.       เราจะอดทน  และขยันขันแข็งในการดำเนินภารกิจใด ๆ  ที่เรารับผิดชอบ
2.       เราจะไม่ทำตามอารมณ์  และนัฟซู  (ความเห็นแก่ได้)  หากแต่จะควบคุมให้เป็นไปตามครรลองที่ชอบธรรม  ทั้งในทางศาสนา และกฎหมายบ้านเมือง
3.       เราจะมีความรักและความใส่ใจต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน  ความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของใคร  เป็นสิ่งที่เราจะใส่ใจร่วมปกป้องและดูแล
4.       เราจะใช้จ่ายอย่างประหยัด  และจุลเจือทรัพยากรหรือเงินที่มีส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นทานต่อผู้ยากไร้

จากทั้ง 4 ข้อข้างต้นจะเป็นจริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการที่เรามองย้อนอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงรอมฎอน  มองทั้งในแง่หลักคำสอนแล้ว ย้อนมองตัวเราเองว่ามีการปฏิบัติตัวที่ความสอดคล้องกับแก่นแท้ของหลักคำสอนไหม  ?   

แก่นแท้ของหลักคำสอน ซึ่งก็คืออัลกรุอ่านที่ถูกประทานมาในเดือนรอมฎอน เราสามารถกำหนดได้อย่างน้อยก็ 3 หลัก  ต่อไปนี้
1.       หลักแห่งความศรัทธาที่แน่วแน่และความยำเกรง
2.       หลักแห่งการศึกษาหาความรู้ 
3.       หลักแห่งความเมตตา  และความเป็นแบบอย่างต่อทุกมวลสรรพสิ่ง  (ลิลอาลามีน)

หลักที่   1 หลักแห่งความศรัทธาที่แน่วแน่และความยำเกรง
ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดที่ท่านศาสดาได้วางไว้  จากระยะเวลา  13  ปี  ที่เมกกะ  และหลังจากที่ได้ฮิจเราะห์สู่เมืองมาดีนะห์  ท่านศาสดามุ่งเป้าที่การสร้างให้เกิดเหล่าชนผู้ศรัทธาที่แน่วแน่ เริ่มจากแต่ละคน สู่สังคมโดยรวม  เมื่อตัวตนแต่ละคนเป็นแบบอย่างที่ดี สังคมโดยรวมก็ถูกพัฒนาไปในทางที่ดีด้วย  ซึ่งถูกเรียกต่อมาว่าประชาชาติที่ดีเลิศ  (คอยรออุมมะห์)

เริ่มแรกเมื่อศาสดาถึงมาดีนะห์  ก็มีการสร้างมัสยิด  เรียกชื่อว่ามัสยิดกูบา   ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของสังคมใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่ถูกวางไว้บนพื้นฐานของความศรัทธาอันแน่วแน่  และความยำเกรงที่ไม่คลอนแคลนใด ๆ บนหลักคิดที่ว่าอิสลามคือทางแห่งความเมตตา  ทางแห่งการจรรโลงสิ่งที่ดีงามต่อมวลมนุษย์  ความดีนี้เปล่งประกายจากมัสยิดฉายแสงไปทั่วทุกสรรพสิ่ง  อัลเลาะห์กล่าวว่า

 



แน่นอน มัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความยำเกรงตั้งแต่วันแรกนั้นสมควรอย่างยิ่งที่เจ้า จะเข้าไปยืนละหมาดในนั้น   (เตาบัต :  108)

โดยสรุปแล้วการสร้างมัสยิดจึงไม่ใช่เพื่อให้ได้หลังใหญ่โตโอ่อา  หากแต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำสิ่งที่ดี เพื่อสังคมรอบข้าง  และมนุษย์โลกต่อไป

มัสยิดกูบาถูกสร้างในปีแรกของการฮิจเราะห์  การถือศิลอดก็ถูกบัญญัติในปีถัดมา  ด้วยเหตุนี้ ความยำเกรง  มัสยิด  และการถือศิลอดเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน  ไม่สามารถแยกจากกันได้
บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวก เจ้าจะได้ยำเกรง  ( อัลบากอเราะห์ : 183 )

พื้นฐานสำคัญจากข้อนี้ เราได้ทำกันทุกปี  เพราะทุกปีเราถือศีลอด อันหมายถึงมีการยกระดับการพัฒนาในตัวตนอย่างต่อเนื่อง  เปรียบเช่นมีการตรวจสอบบัญชี  (Audit)  รายปี เพื่อดูการคงเหลืออยู่ของตักวาในบัญชีเรา และบัญชีสังคมเรา

หลักที่ 2  หลักแห่งการศึกษาหาความรู้ 
 อัลกุรอ่านถูกประทานในเดือนรอมฎอน  อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า
 
 





เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุ-อานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น…..”( อัลบากอเราะห์ : 185 )

จากอายัตข้างต้น เราสามารถทำความเข้าใจได้ใน  3  ประเด็น  คือ
1.       เพื่อเป็นทางนำต่อมวลมนุษย์
2.       เพื่อสร้างเข้าใจต่อทางนำที่มีมา  ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งการศึกษาทางวิชาการ
3.       เพื่อให้เกิดแบ่งแยกได้ระหว่างสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่เป็นเท็จ

จากคำว่า อัลบัยยีนาต   ซึ่งก็คือ  การสร้างความกระจ่างแจ้งต่อมนุษย์   นั้นก็หมายถึง  ความรู้และความเข้าใจต่าง ๆ ต่อสิ่งที่มีในอัลกรุอ่าน

เมื่อสังคมมีพื้นฐานจากความศรัทธาและความยำเกรง  สิ่งที่ต้องมีตามมาก็คือ  ความรู้ มีความเข้าใจต่อหลักการต่าง ๆ ที่อัลเลาะห์ใช้คำว่า  อัลฮูดา

                สังคมเราจะก้าวหน้าไปได้จึงต้องเป็นสังคมแห่งความรู้  โดยเฉพาะความรู้ที่มาควบคู่กับหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใด    ที่ปฐมบทของอัลกรุอ่านที่ถูกประทานมา ด้วยคำว่า  อิกเราะ นั้นคือ    จงอ่าน  เพราะถ้าไม่มีการอ่านความรู้จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  ? 

                ความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ความรู้ศาสนา  หากแต่ต้องหมายถึงความรู้ใด ๆ จากสิ่งรอบข้าง จากสังคมจากโลก รวมถึงทั้งจักรวาล

                จึงไม่ใช่เรื่องแปลก  ต่อคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามในยุครุ่งโรจน์ ในอดีต  ที่มีเหล่าผู้รู้จากทุกสาขาวิชา  ในขณะที่ปัจจุบัน  เราตกต่ำหาใช่เพราะเหตุอื่นใดไม่  หากแต่เพราะส่วนใหญ่เราไม่สนใจในการศึกษาหาความรู้มากกว่า

                สรุปก็คือ  รอมฎอน นอกจากเพื่อการตรวจสอบ (Audit) บัญชีอีหม่าน แล้ว ยังเป็นการตรวจสอบบัญชีความรู้ บัญชีวิชาการ บัญชีแห่งคุณธรรม   อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาใดๆ ในสังคมเรา


3. หลักแห่งความเมตตา  และความเป็นแบบอย่างต่อทุกมวลสรรพสิ่ง  (ลิลอาลามีน)
                ความยำเกรง ความใฝ่รู้  ไม่ไช่เรื่องส่วนบุคคล  หากแต่เป็นเรื่องของบุคคล ที่ต้องนำไปสู่สังคม  และสังคมที่ว่านี้ ก็คือสังคมโดยรวม หาไช่เพียงเพื่อคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น  หากแต่เพื่อมวลมนุษย์  ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใด และมีความเชื่ออย่างไร

                ประชาชนในมาดีนะห์ ที่ส่วนหนึ่งไม่ไช่มุสลิม แต่ก็ได้รับการดูแล ให้ความเท่าเทียม โดยท่านศาสดา รวมทั้งผู้สืบทอดที่รับช่วงต่อมาก็ไม่ต่างกัน

                การมาของศาสดาถือเป็นความเมตตา ผู้ตามศาสดาย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเมตตา รอมฎอนที่ผ่านมาก็เป็นเดือนแห่งความเมตตา  ความเมตตานี้ จะต้องคงอยู่สืบไป ตราบเท่าที่ความภักดีมั่นในหลักการได้รับการปฏิบัติที่ไม่ไช่แค่ในนามธรรม แค่ในตำรา ในบทบรรยาย   หากแต่มีเป็นรูปธรรมที่ผู้ศรัทธาได้น้อมนำ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

                อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า
และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย   อัลอัมบียา : 107)

แท้จริงบ้านหลักแรกที่ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษย์(เพื่อการอิบาดะฮ์) นั้นคือบ้านที่มักกะฮโดยเป็นที่ที่ถูกให้มีความจำเริญ และเป็นที่ แนะนำแก่ประชาชาติทั้งหลาย อาลีอิมรอน  :  96

จากอายัตทั้งสองที่ยกมา ที่ลงท้ายด้วยลิลอาลามีน ที่หมายถึงประชาชาติทั้งหลาย หรือบางทัศนะแปลว่า ทั้งหลายทั้งสากลโลก ก็เป็นหลักฐานว่า สิ่งที่เรามีมา สิ่งที่เราได้ปฎิบัติไปในทางศาสนา จะต้องก่อให้เกิดผลสู่การสร้างสรรค์ และการจรรโลงโลกนี้ เพื่อความผ่าสุขต่อทุกมวลมนุษย์

สรุป
                การตรวจสอบบัญชีเราจึงมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ
1.      บัญชีด้านจิตใจ (รูฮานี)  หมายถึงความศรัทธาและความยำเกรงที่มีในใจแต่ละคน
2.      บัญชีด้านวิชาการ และความเข้าใจต่างๆ   หมายถึงการพัฒนาและยกระดับในตัวตน
3.      บัญชีด้านสังคม  หมายถึงการร่วมสร้างสรรค์และจรรโลงสังคม

การที่เราทำได้ และผ่านเข้าถึงจากทั้ง 3 ส่วน ยิ่งมากขึ้นเท่าใด  ก็ยิ่งสามารถทำให้เรายกระดับคุณค่าแห่งตัวตนมากขึ้นเท่านั้น  การสอบบัญชีรายปีที่ผ่านไปทุกปี ย่อมหมายถึงตัวตนของเรา ได้รับการพัฒนามากขึ้น สังคมเราก็ต้องดีขึ้นด้วยไช่หรือไม่ ? 

คงไม่มีใครสามารถตอบคำถามนี้ ได้ดีเท่ากับ ที่เราต้องตอบคำถามนี้ที่ตัวเราเอง จาก 2 ระดับต่อไปนี้

1. ในระดับตัวตนของเรา   เราต้องถือปฏิบัติจากสิ่งดีทั้งหลายที่มีในเดือนรอมฎอนให้ต่อเนื่องไป เราต้องหมั่นศึกษา หาความรู้  เพราะไม่มีใครสามารถก้าวหน้าได้ ถ้าไม่มีความรู้.  เราต้องเข้าถึงหลักปฏิบัติต่างๆ ทางศาสนา ที่ไม่ไช่แค่พิธีกรรม ทำแล้วผ่านไป  แต่ให้ตระหนักเสมอว่า ทุกพิธีกรรม สามารถเป็นบทเรียนสู่การพัฒนาชีวิตตัวเรา  และสังคมเราได้ ถ้ารู้จักนำมาใช้

2. ชีวิตทางสังคมที่เราต้องพยายามสร้างสังคมแห่งความรัก ที่มีการเกื้อหนุน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีการแบ่งแยก เพียงเพราะการต่างความคิด ต่างความเชื่อ คิดต่างทางการเมือง เป็นต้น.  สังคมที่มีพื้นฐานจากความตักวา  คือสังคมที่หลอมรวมใจกันเป็นหนึ่ง  มีความรักต่อคนรอบข้าง เสมือนหนึ่งรักตนเอง

การทำใจให้บริสุทธิ์เป็นเรื่องยาก แต่ผู้ศรัทธา ที่น้อมนำหลักคำสอน สู่หลักปฏิบัติ จากตัวเอง สู่สังคมรอบข้าง ต้องตระหนักเสมอว่า

....ในนั้น เพราะในมัสยิดนั้นมีคณะบุคคลที่ชอบจะชำระตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮ์นั้นทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ   อัตเตาบะห์  : 108

No comments: