Friday, August 03, 2012


รอมฎอน  ว่าด้วยเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ



มนุษย์ คือ หนึ่งในที่ถูกสร้าง (มัคลุค) ที่มีนิสัยโน้มนำไปทางการละเมิดขอบเขต ยิ่งสิ่งที่สอดรับกับอารมณ์นัฟซู   และถ้าไม่ถูกควบคุมด้วยทางแห่งศาสนา และ ศีลธรรมอันดีงาม มนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์

ด้วยเหตุนี้รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งเกียติยศของมุสลิม  เดือนที่เราสามารถตักตวงผลบุญแห่งอีบาดะห์เป็นทวีคูณซึ่งในทุกอีบาดะห์จะผ่านไปได้ก็ด้วยการอดทน และสู้กับอารมณ์นัฟซูอย่างยิ่งใหญ่

รอมฏอนจึงเป็นเดือนแห่งการอบรมขัดเกลาจิตใจมุสลิม ให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของหลักการศาสนาอีกทั้งการคำนึงถึงความรู้สึกของมนุษย์ผู้อื่น

รอมฎอนจึงไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการสร้างความใกล้ชิดกับผู้สร้าง(คอลิก)หากแต่เป็นช่วงเวลาแห่งความผูกพันรัดรึงแน่นแฟ้น ระหว่างมัคลุคด้วยกัน ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ

รอมฎอนจึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งการยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานทางศีลธรรม การสร้างสังคมแห่งความเกื้อกูล การมีช่องว่างทางเศรษฐกิจที่แคบลง และชีวิตคนมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

แต่โชคร้ายเมื่อรอมฏอนถูกใช้เพื่อการปฏิสัมพันธ์กับผู้เป็นคอลิกแค่ส่วนหนึ่ง  ในขณะที่ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันกลับเป็นไปอย่างเบาบาง

หนึ่งในพฤติกรรมที่ต้องใคร่ครวญอย่างมากก็คือ พฤติกรรมในด้านการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย ที่บ่อยครั้งล่วงเลยขอบเขตของความพอดีและความฟุ่มเฟือย  ทั้งๆ ที่เดือนนี้คือช่วงแห่งการขัดเกลาจิตใจมุสลิม ให้เป็นมนุษย์แห่งกอนาอะห์ หรือความพอเพียง มีการใช้สอยอย่างประหยัด ทรัพยากรถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ข้อเท็จจริงในสังคมมุสลิม ทุกวันนี้กลับเป็นตรงกันข้ามกัน
               
ยิ่งน่าเศร้าใจไปอีกเมื่อมีบางส่วนถือว่าเดือนรอมฎอน คือช่วงแห่งเทศกาลความรื่นเริงมีความสุขและสนุกสนานกับการ ช็อปปิ้งจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ต้องคิด ทั้งที่เป็นอาหาร เครื่องแต่งกาย ของประดับ ฯลฯ
                       
วัฒนธรรมแห่งการซื้อทวีความเข้มข้นมากขึ้นยิ่งในช่วง 10 วันสุดท้ายของรอมฎอน ทั้งที่เป็นช่วงที่ต้องรีบเร่งการทำอีบาดะห์ ทำความดีและการบริจาคทาน แต่เวลาในช่วงนี้ทั้งหมดถูกใช้เพื่อการเดินตลาด ซื้อเครื่องแต่งกาย ของใช้ใหม่ๆ ประดับประดาบ้านเพื่อต้อนรับอีดิลฟิตรี

ไม่มีข้อห้ามทางศาสนาในการซื้อของใช้และอุปกรณ์ใหม่ๆ ทั้งสำหรับครอบครัวและสำหรับตนเอง หากแต่ยังส่งเสริมให้แต่งกายด้วยชุดที่ดี และดูสวยงามในวันอิดิลฟิตรี

ท่านญาบีรได้กล่าว  ท่านศาสดาจะแต่งกายในชุดที่ดีทีสุด นั้นคือ ชุดญูบะห์ ซึ่งท่านจะแต่งเฉพาะสำหรับวันอิดิลฟิตรี และวันศุกร์

แต่สิ่งที่มุสลิมต้องใส่ใจก็คือการหวนกลับสู่ค่านิยมตามแนวทางแห่งระบบเศรษฐกิจอิสลามอย่างแท้จริง หนึ่งในแนวคิดนั้นก็คือการยึดสายกลางและความพอดี พอเพียง

การยึดสายกลางถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของอีบาดุลเราะห์มาน(บ่าวของพระเจ้า)  ที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างอเนกอนันต์ในอาคีรัต ดังที่อัลเลาะห์ได้กล่าวไว้ในอัลกรุ-อาน

 
ความว่า  และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ (คือพวกเขามิได้เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่าย เพื่อการกินการดื่มและการแต่งกาย และมิได้เป็นคนบกพร่องและหวงแหนจนกระทั่งกลายเป็นคนตระหนี่ ) และระหว่างทั้งสองสภาพนั้น พวกเขาอยู่สายกลาง  (อัลฟุรกอน  : 67)

อิบนูกาษิร ได้ให้คำอธิบายกับอายะห์ข้างต้นว่า คนที่อัลเลาะห์อ้างถึงในอายะห์นี้หมายถึงคนที่ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่มัธยัสถ์  หรือตระหนี่ถี่เหนียวมากจนเกินปกติ ทั้งสำหรับครอบครัว เพื่อนบ้าน และต่อคนยากจนทั้งหลาย
               
ความเป็นอิบาดุลเราะห์มาน ก็คือคนที่มีความยุติธรรมและคนที่ดี มีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความพอดีและยึดสายกลาง สามารถหลีกพ้นจากความฟุ่มเฟือยในการบริโภค และความตระหนี่ถี่เหนียว

การจับจ่ายใช้สอย อย่างเป็นระบบและถูกต้องก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ถึงความเป็นมุสลิมที่สมบูรณ์ ที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนาอย่างเคร่งครัด

รอมฎอนนี้จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่สุดแล้วที่เราจะนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดระเบียบการใช้จ่ายในครอบครัว  และการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งทั้งเพื่อเป็นซะกาตหรือซอดาเกาะห์ ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งความฟุ่มเฟือยและความตระหนี่ ถี่เหนียวที่มีในตัวตนถูกสลายไป คงเหลือแต่เพียงประชาชาติแห่งวาซอตียะห์หรือประชาชาติสายกลาง

No comments: