Friday, August 03, 2012


รอมฎอน :  ข้อควรปฎิบัตทางศาสนา กับข้อเท็จจริงที่เป็นไป




รอมฎอนแห่งความจำเริญยิ่งนี้ ได้ก้าวมากว่าครึ่งทางแล้ว ในหลายๆ พื้นที่ของชุมชนมุสลิม เราได้เห็นบรรยากาศใหม่ ที่ไม่เหมือนกับในช่วงเวลาอื่นๆ

เราได้เห็นทั้งบรรยากาศของความตักวา หรือการแสดงถึงความภักดียิ่งต่อพระผู้อภิบาล แต่ก็มีไม่น้อยอีกเช่นเดียวกัน ที่รอมฎอนเป็นแต่เพียง เทศกาลประจำปี   ที่แวะเวียนมาให้เราได้ร่วมงานนี้กันอีกครั้งหนึ่ง เท่านั้นเอง

มุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องเข้าใจให้ได้อย่างลึกซึ้ง ถึงหลักคำสอนที่แฝงมากับรอมฎอน ทั้งที่มีระบุไว้ในอัลกุรอาน และจากหลักปฎิบัติของท่านศาสดา  และอย่าให้เป็นเพียงแค่เทศกาลแห่งปีเท่านั้น 

มีหลายอย่างที่เราต้องใส่ใจ และมีบางอย่างที่ควรหลีกห่าง เพื่อไม่ให้รอมฎอนอันบัรกัตยิ่งนี้ประหนึ่งคือประเพณีที่เราปฏิบัติสืบทอดกันมา  ดังนี้

1. การจำกัดขอบเขตของรอมฎอน แค่เพียงการอดด้วยปากจากการกินและดื่มในเวลากลางวัน  ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นตา ลิ้น หู ฯลฯ  ก็ยังคงไม่ละเว้นจากการกระทำในสิ่งที่เป็นความผิดบาป

ท่านศาสดาได้กล่าวว่า ใครที่ไม่ได้ละเว้นจากคำกล่าวร้าย และการกระทำที่ไม่ดี ทั้งทีเขาได้ถือศีลอด เขาจะไม่ได้รับสิ่งใด ๆ จากอัลเลาะห์ (ถูกตัดขาดจากผลบุญ )  ถึงแม้ว่าเขาจะอดทั้งอาหารและเครื่องดื่ม  (รายงานโดยบูคอรี)

2. อดในตอนกลางวัน แต่กลางคืนยังคงมีพฤติกรรมที่เป็นข้อห้ามทางศาสนา  ทั้งการนินทาเพื่อนมนุษย์ ยังคงสูบบุหรี่ หรือสิ่งที่เป็นหะรอม ตายังคงมองในสิ่งที่เป็นข้อห้าม

3. มีการจัดเตรียมอาหารการกินที่ล่วงเลยขอบเขตปกติ จนถึงขั้นฟุ่มเฟือย อัลเลาะห์ได้กล่าวว่า  แท้จริงแล้วคนที่ฟุ่มเฟือยนั้นเป็นพี่น้องกับซัยฎอน  (อัลอิสรออฺ  27)

4. มีการกินอาหารในช่วงละศีลอดเป็นจำนวนมาก จนร่างกายอ่อนเพลียมิอาจจะทำอีบาดะห์ ในตอนกลางคืนได้อย่างเต็มที่

5. ไม่ใส่ใจกับอีบาดะห์ซุนัตทั้งตารอแวะห์ หรือการละหมาดในยามค่ำคืน

6. มีการละหมาดตารอแวะห์ที่เกิดจากการชักนำหรือเชื่อในฮะดิษปลอม ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่นบอกว่า การละหมาดตารอแวะห์ในบางคืนจะได้ผลบุญเท่ากับอีบาดะห์ของนบีอิบรอฮีม ฯลฯ

7. เวลาที่ควรใช้เพื่อการละหมาดตารอแวะห์ แต่เรากลับใช้เวลานั้นเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อภารกิจอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายเพื่อความสุขทางดนยา

8. ขี้เกียจทำงาน และไม่ยอมสร้างผลผลิต  (Productive)  ใด ๆ ในช่วงถือศีลอด ด้วยเหตุผลเพียงแค่เหนื่อยหรือไม่มีแรง ซึ่งแย้งกับหลักปฏิบัติของท่านศาสดา

9. ขี้เกียจอ่านอัลกุรอานหรืออ่านเพียงแค่ซูเราะห์ใดซูเราะห์หนึ่งเท่านั้น  มุสลิมผู้ศรัทธาจะต้องพยายามอ่านกุรอานให้จบทั้งเล่ม   ท่านศาสดาจะใช้เวลาในเดือนนี้เพื่อการศึกษาอัลกุรอานกับญิบรีล

10. ขี้เกียจขอดุอาอ ทั้งๆ ที่ท่านศาสดาได้บอกกับเราว่า การดุอาอของผู้ที่ถือศีลอดนั้นจะถูกตอบรับจาก  อัลเลาะห์  (ความหมายของฮาดิษรายงานโดยอิบนูมาญะห์)

11. ละทิ้งโอกาสทองในช่วง 10 วันสุดท้ายของรอมฎอน  และน่าเสียดายที่บางคนได้ใช้เวลาเช่นนี้เพื่อตระเตรียมรับงานอีดิลฟิฎรี

12. ไม่ได้รู้สึกเสียใจใด ๆ กับรอมฎอนที่กำลังจะจากเราไปอีกแล้ว และไม่ได้ห่วงพะวงใด ๆ ว่าเราจะมีโอกาสเข้าสู่รอมฎอนใน 1 ปี ข้างหน้าอีกไหม ?

13. มีความเชื่อผิดๆ ว่าวิญญาณผู้เสียชีวิตจะกลับมาในเดือนรอมฎอน ความเชื่อเช่นนี้แย้งกับหลักการของอาลัมบัรซัค   (ลองศึกษาอัลกุรอานซูเราะห์อัลมุมีนูน อายะห์ที่  99 100)

14. บางคนถือศีลอดไม่เคยขาด แต่ไม่ค่อยจะละหมาด หรือละหมาดตามความสะดวกในบางวักตูเท่านั้น  ท่านศาสดากล่าวว่า  ข้อแตกต่างระหว่างมุสลิมกับมุซริกและกูฟูรก็คือ คนที่ละทิ้งการละหมาด (รายงานโดยมุสลิม)  
           
อูลามาอฺในยุคก่อนๆ ถือว่าการละทิ้งละหมาดโดยเจตนาถือเป็นกูฟูร  เพราะฉนั้นการถือศีลอดของคนกูฟูร จะไม่ถูกยอมรับจากอัลเลาะห์

15. มีการทำลายผลบุญของการถือศีลอดของเดือนนี้ โดยการจัดกิจกรรมหรือการละเล่นที่เลยเถิดจากคำสอนของอิสลามในวันอีดิลฟิฎรี จนถึงขั้นเป็นมุอฺซียัต

ทั้ง 15 ข้อข้างต้น เป็นแต่เพียงแค่บางส่วนของความบกพร่องที่เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน  และจากความบกพร่องเหล่านี้ทำให้คุณค่าของรอมฎอนที่เปี่ยมด้วยบัรกัตนี้ถูกทำลายลงไปอย่างน่าเสียดาย

ท่านศาสดาได้กล่าวว่า  ใครที่ถือศียาม (ศีลอด)ในเดือนรอมฎอนนี้ ด้วยความศรัทธาอย่างแน่วแน่ และหวังความโปรดปรานจากอัลเลาะห์ เขาจะได้รับการอภัยโทษจากความผิดบาปทั้งหลายที่ผ่านมา  (รายงานโดยบูคอรี) 

No comments: